xs
xsm
sm
md
lg

ผลเอแบคโพลล์ชี้ ประชาชนปลื้ม “สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอแบคโพลล์ ชี้ นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน” คนไทยพอใจอันดับหนึ่ง ระบุ พอใจเกือบ 8 จาก 10 คะแนน ขณะเลขาธิการ สปสช.ย้ำ ต้องเร่งแก้ปัญหาที่เกิดจากการบริการ เพื่อมาตรฐานที่ดี

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายสร้างความเสมอภาคการรักษาพยาบาลระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ โดยเริ่มดำเนินการ “นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถูกถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น” ตั้งแต่ 1 เม.ย.นั้น การติดตามผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-20 เม.ย.พบว่า นโยบายดังกล่าวเป็นการบูรณาการร่วมกันของ 3 กองทุน คือ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนประกันสังคม เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม เสมอภาค เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.จากข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 20 มิ.ย.พบว่า มีผู้เข้าถึงบริการโดยใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบ 2,714 คน ใน 191 โรงพยาบาล 50 จังหวัด สามารถช่วยชีวิตประชาชนได้ 92.6% โดยรัฐบาลได้จ่ายเงินชดเชยให้โรงพยาบาลไปแล้ว 31.51 ล้านบาท

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ทำการสำรวจความพึงพอใจต่อโครงการ หรือมาตรการเร่งด่วนต่างๆ ของรัฐบาลจำนวน 19 โครงการ โดยกลุ่มเป้าหมายในการสำรวจ คือ ประชาชนทั่วไปที่มีสิทธิในกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากทั่วประเทศ เก็บรวบรวมข้อมูลจาก 21 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 3,721 ตัวอย่าง ระยะเวลาในการดำเนินงานโครงการสำรวจ ระหว่างวันที่ 10-18 พฤษภาคม 2555 พบว่า โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถูกถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น ประชาชนให้ความพึงพอใจเป็นอันดับหนึ่ง ได้คะแนนความพึงพอใจ 7.94 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 มากกว่าโครงการหรือมาตรการอื่นๆ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได การเร่งป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน การลดภาษีซื้อบ้านหลังแรก การจัดหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้นักเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ นโยบายที่จะดำเนินการต่อไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุน คือ การรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและผู้ป่วยโรคมะเร็ง

“จากผลโพลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ประชาชนเห็นด้วยกับความเท่าเทียมทางการรักษาพยาบาลและรับบริการสาธารณสุข ลดความเหลื่อมล้ำ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หากสามารถแก้ปัญหาต่างๆที่พบได้ในขณะนี้ อาทิ การถูกโรงพยาบาลเอกชน เรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยล่วงหน้า การประสบปัญหาขาดทุนในการบริการ เชื่อว่าจะสร้างมาตรฐานที่ดีแน่นอน” นพ.วินัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น