xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : ดีเอ็นเอคืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับโรคร้าย (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดีเอ็นเอ คือ ชีวโมเลกุลซึ่งทำหน้าที่เก็บข้อมูลพันธุกรรมทั้งหมดของเรา ข้อมูลเหล่านี้บางส่วนเรามองเห็นได้ เช่น สีผม หน้าตา ผิวพรรณ แต่ความถนัด และพฤติกรรม ก็เป็นข้อมูลที่อยู่ในดีเอ็นเอ พวกเราแต่ละคนจะได้ข้อมูลพันธุกรรมมาจากพ่อและแม่อย่างละครึ่ง ดีเอ็นเอจึงบอกความเป็นพ่อแม่ลูกได้

เพราะดีเอ็นเอของแต่ละคนจะแตกต่างกัน ดีเอ็นเอจึงระบุความเป็นตัวเราได้ด้วย ดังนั้น ในทางนิติวิทยาศาสตร์สามารถใช้ดีเอ็นเอชี้ตัวผู้ร้ายได้ด้วย

โรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดมาในตระกูลหรือครอบครัวของเราก็เป็นข้อมูลที่อยู่บนดีเอ็นเอ เราจึงสามารถตรวจดีเอ็นเอเพื่อค้นหาตำแหน่งดีเอ็นเอที่ผิดปกติ เพื่อระบุสาเหตุ หรือยืนยันว่าเราป่วยเพราะอะไร และยังสามารถนำตำแหน่งดีเอ็นเอที่ผิดปกติไปตรวจลูกหลานเพื่อการป้องกันโรคได้

โรคบางอย่างจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงกลายพันธุ์หรือความผิดปกติที่ดีเอ็นเอก่อน เช่น โรคมะเร็งต่างๆประมาณ 5 - 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคมะเร็งจะมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นแต่ประมาณกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยมะเร็ง จะไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นเลย

ดีเอ็นเอเป็นชีวโมเลกุลซึ่งโครงสร้างทางเคมีบอบบางจึงแตกหักเสียหายกลายพันธุ์ได้ง่าย เนื่องจากมลพิษในสิ่งแวดล้อมในอาหาร หรือในสิ่งที่เราต้องสัมผัสในชีวิตประจำวัน

แม้ร่างกายจะมีกลไกในการช่วยแก้ไขความผิดปกติก็ตาม แต่ถ้ากลไกเหล่านั้นไม่สมบูรณ์พอ ดีเอ็นเอที่เสียเหล่านี้ก็จะค่อยๆเกิดการสะสม จนนานวันและหลายๆ ปี ก็จะทำให้เรามีดีเอ็นเอที่เสียหายกลายพันธุ์มากมายหลายตำแหน่ง จนทำให้เซลล์เปลี่ยนคุณสมบัติและกลายเป็นเซลล์มะเร็ง เมื่อเซลล์แบ่งตัวเพิ่มขึ้นก็จะทำให้อวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่มีดีเอ็นเอกลายพันธุ์สะสมป่วย และร่างกายก็จะป่วยตามมาในที่สุด

อันที่จริง ดีเอ็นเอซึ่งเก็บข้อมูลพันธุกรรมของเราก็เป็นเพียงโครงสร้างทางเคมีแบบง่ายๆ แบ่งเป็น 4 หน่วยย่อย เรียกด้วยอักษรย่อง่ายๆ ว่า (จี) G, (เอ) A, (ที) T, และ (ซี) C โครงสร้างเคมี G, A, T, และ C นี้ แต่ละตัวจะประกอบด้วยน้ำตาล(ไรโบส), สารเคมีที่เรียกว่าเบส, และหมู่ฟอสเฟต และเรียกรวมกันว่า ‘นิวคลีโอไทด์’

ฟอสเฟตบนน้ำตาลจะเป็นตัวร้อยเชื่อมหน่วยย่อยนิวคลีโอไทด์เข้าด้วยกัน โดยมีเบสเกาะห้อยอยู่บนน้ำตาล หน่วยย่อยเหล่านี้ก็จะร้อยตัวกันเป็นสายยาวแบบเส้นด้ายที่มีน้ำตาลต่อๆ กันด้วยหมู่ฟอสเฟต (มองเห็นเป็นน้ำตาลสลับกับฟอสเฟต) และมีเบส G, A, T, และ C ห้อยอยู่บนโมเลกุลน้ำตาล

ทั้งนี้ ดีเอ็นเอของเราจะมี 2 สายจับคู่กัน พันกันวนเป็นเกลียวคล้ายบันไดเวียน โดยสายของดีเอ็นเอจะหันด้านที่มีเบสเข้าหากัน และจับคู่กัน คือเบส G จะจับคู่กับ C เบส A จะจับคู่กับ T

ดีเอ็นเอบริเวณใดที่ทำหน้าที่ เช่น โค้ดโปรตีน หรือเอ็นไซม์ บริเวณนั้นจะเรียกว่า “ยีน (gene)” บริเวณที่เป็นเนื้อยีนจะพบว่าเบสจะเรียงตัวกันอย่างมีความหมาย คือ 3 เบส ถ้าเรียงกันถูกต้องก็จะโค้ดกรดอะมิโน 1 ตัว กรดอะมิโนที่เรียงกันเป็นสายยาวก็จะต้องขดหรือพันกันเป็นโมเลกุลซึ่งจะทำหน้าที่เป็นโปรตีนหรือเอ็นไซม์

โครงสร้างของดีเอ็นเอ

รูปที่ 1 และรูปที่ 2 แสดงดีเอ็นเอ 2 สาย พันกันเป็นเกลียว (รูปซ้ายมือ) สายดีเอ็นเอจะหันเบสเข้าหากันและจับคู่กัน (รูปขวามือ) โดย เบส A (ชื่อเต็มคือ Adenine) จะจับกับเบส T (ชื่อเต็มคือ Thymine) ส่วนเบส G (ชื่อเต็มคือ Guanine) จะจับคู่กับเบส C (ชื่อเต็มคือ Cytosine)

(ที่มา : http://www.biotechnologyonline.gov.au/biotechnologyonline/popups/int_dnazoom.html และ http://learn.genetics.utah.edu/archive/sloozeworm/mutationbg.html)

แสดงให้เห็นดีเอ็นเอหลังการสกัดออกมาจากเซลล์ โดยปกติดีเอ็นเอจะขดแน่นอยู่ในโครโมโซมซึ่งอยู่ภายในนิวเคลียสของเซลล์ทั่วไป (ยกเว้นเซลล์เม็ดเลือดแดงแก่ซึ่งจะไม่มีนิวเคลียส) นอกจากนี้เรายังมีดีเอ็นเออยู่ในไมโตคอนเดรียด้วย (ไมโต
คอนเดรียทำหน้าที่สร้างโมเลกุลพลังงานชื่อ ATP (เอทีพี) ให้กับเซลล์)

(ที่มา : http://www.chm.bris.ac.uk/webprojects2002/anderson/dna_extraction.htm)

ถ้าอ่านมาทั้งหมดข้างต้นแล้วก็ยังนึกไม่ออกว่าดีเอ็นเอคืออะไร เราอาจจะจินตนาการง่ายๆ ว่าสายดีเอ็นเอเปรียบเหมือนสร้อยข้อมือผู้หญิงที่มีตุ้งติ้งน่ารักๆ ห้อยอยู่ ส่วนที่เป็นตุ้งติ้งอาจเปรียบเสมือนเบส (G, A, T, และ C) สายข้อมือตุ้งติ้งอาจจะอยู่ด้วยกัน 2 สายพันกัน โดยให้ตัวห้อยตุ้งติ้งเกาะเกี่ยวกัน (เปรียบเสมือนเบสจับคู่กัน) สร้อยข้อมือนี้อาจเป็นดีไซน์ที่ทำออกมาขายจำนวนหลายก๊อปปี้ อาจมีบางก๊อปปี้ที่ตุ้งติ้งบิดเบี้ยวหรือหลุดขาดได้ง่าย (แล้วอาจเอามาวางขายราคาถูกแบบสินค้าที่ไม่ผ่านการตรวจมาตรฐานคิวซี)

สร้อยข้อมือที่บิดเบี้ยวมีตุ้งติ้งที่หลุดขาดง่ายอาจเปรียบได้กับการกลายพันธุ์ในดีเอ็นเอที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด ซึ่งเราอาจมองการพันธุ์แบบนี้ว่าเป็นกรรมเก่าที่ติดตัวเรามาจากชาติที่แล้ว ร้อยข้อมือดีไซน์เดียวกันนี้ที่ผลิตออกมาได้มาตรฐานสวยงาม แต่เมื่อเราซื้อมาสวมใส่ใช้นานวันเข้า ถ้าระวังรักษาอย่างดีก็อาจทนทานสวยงามอยู่นาน แต่ถ้าเราใช้แบบไม่ระวังไม่ทะนุถนอมก็อาจพังหรือขาด เราก็อาจซ่อมได้ หรือบางทีก็อาจซ่อมไม่ได้

เปรียบเหมือนกับเราอาจโชคดีที่มีดีเอ็นเอที่ดีไม่กลายพันธุ์ เรียกว่ากรรมเก่าดีแต่สร้อยข้อมือที่ขาดหรือมีตุ้งติ้งที่ห้อยสวยงามน่ารักหลุด ก็อาจเปรียบได้กับการกลายพันธุ์ในดีเอ็นเอที่เกิดหลังจากที่เราเกิดคือการกลายพันธุ์ที่จะทำให้เราป่วย ซึ่งเราอาจจะมองการกลายพันธุ์ลักษณะนี้ในดีเอ็นเอว่าเป็นกรรมใหม่ ที่อาจเกิดจากพฤติกรรมที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพของเรา ทำให้ดีเอ็นเอเกิดการแตกหักเสียหายกลายพันธุ์ แล้วเราก็เกิดการเจ็บป่วยตามมาในที่สุด

(ทำไมเราถึงต้องรู้จักดีเอ็นเอ ดีเอ็นเอเกี่ยวข้องกับสุขภาพหรือโรคร้ายอย่างไร โปรดติดตาม ใน “ธรรมลีลา”ฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 140 สิงหาคม 2555 โดย รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร)
โครงสร้างของดีเอ็นเอ รูปที่ 1
โครงสร้างของดีเอ็นเอ รูปที่ 2
ดีเอ็นเอหลังการสกัดออกมาจากเซลล์


กำลังโหลดความคิดเห็น