xs
xsm
sm
md
lg

เผยเด็กไทยป่วยโรคสมาธิสั้นกว่า 3 แสนราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
เด็กไทยป่วยโรคสมาธิสั้น กว่า 3 แสนราย ขณะที่ทั่วโลกพบเด็กป่วยเพียง 5% ชี้หากไม่รักษาให้จะทำให้เด็กร้อยละ 70 หรือ 2 ใน 3 มีอาการไปจนโตส่งผลต่อสุขภาพจิตทั้งก้าวร้าว บางรายรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย ด้าน “หมอชลน่าน” สั่งเร่งให้ความรู้และวิธีสังเกตพฤติกรรมของเด็กที่เข้าข่ายป่วยโรคสมาธิสั้น

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรคในเด็กที่น่าเป็นห่วงและมีผลต่ออนาคตของเด็กไทย คือโรคสมาธิสั้น หรือโรคเอดีเอชดี หรือที่เรียกกันติดปากว่าโรคไฮเปอร์แอ็กทีฟ พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าที่ควรเนื่องจากไม่ได้คิดว่าเด็กป่วย โดยโรคนี้มักพบในเด็กชายผลสำรวจในกลุ่มเด็กไทยที่กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -6 ที่มีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน พบว่าเป็นโรคสมาธิสั้นร้อยละ 6.5 คาดว่า จะมีเด็กไทยป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 310,000 ราย ขณะที่ทั่วโลกพบเด็กเป็นโรคนี้ร้อยละ 5

ทั้งนี้ จากรายงานของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์พบว่า เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้หากไม่รักษาจะทำให้ 2 ใน 3 หรือประมาณร้อยละ 70 ของเด็กที่ป่วยมีอาการจนถึงผู้ใหญ่ จะมีผลเสียต่อทั้งต่อเด็ก และสังคม โดยพบว่า 1 ใน 4 ทำผิดกฎจราจร มีบุคลิกก้าวร้าวอีก 1 ใน 10 มีปัญหาใช้สารเสพติด หรือมีปัญหาสุขภาพจิตถึงขึ้นพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งมีร้อยละ 5 ที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จ จึงได้มอบนโยบายให้กรมสุขภาพจิตเร่งเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคและวิธีการสังเกตพฤติกรรมผิดปกติของลูกหลาน เพื่อที่จะพาไปรักษาตั้งแต่ยังเด็ก และรักษาหายขาดได้ โดยขณะนี้โรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลศูนย์ทุกจังหวัด สามารถให้การรักษาได้

ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคสมาธิสั้นเป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็กตั้งแต่ก่อนอายุ 7 ขวบ ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แท้จริง แต่มักจะพบในผู้หญิงที่สูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้าระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่นของเด็ก ไม่ใช่เด็กปัญญาอ่อน เด็กกลุ่มนี้จะมีระดับไอคิวปกติ อาการที่เป็นสัญญาณโรค จะปรากฏเห็นชัดเจน 3 อาการ ได้แก่ ขาดสมาธิ ขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง และซุกซน เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่จะมีปัญหาการเรียน หรือเรียนได้แต่ไม่เต็มศักยภาพ

ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ปกครอง และครูที่ดูแลเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น เรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้องเพื่อช่วยในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างของเด็ก การตี หรือการลงโทษทางร่างกายเป็นวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ได้ผล และจะมีส่วนทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธหรือแสดงพฤติกรรมต่อต้าน และก้าวร้าวมากขึ้น วิธีการที่ได้ผลดีกว่าคือ การให้คำชม หรือรางวัลเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้อง และเหมาะสม หรือควบคุมพฤติกรรมตนเองได้ หากพบว่าลูกหลานมีอาการเหล่านี้ขอให้ปรึกษาจิตแพทย์ สามารถโทร.สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ 1667 หรือสอบถามที่สายด่วนวัยรุ่นของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ 0-2248-9999 หรือเว็บไซต์ www.smartteen.net หรือที่แฟนเพจของสถาบันฯ http://facebook.com/smartteenตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น