xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ชี้ “ไทย” ยังไม่ตระหนักผลกระทบจากแร่ใยหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แร่ใยหิน (ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)
แพทย์ เผย ไทยยังไม่ตระหนักผลกระทบทางสุขภาพของการใช้แร่ใยหิน แม้มีมติ ครม.หนุนยกเลิกการใช้ แต่ยังไม่มีการปฏิบัติตาม เร่งคัดกรองผู้ป่วยจากการทำงานสัมผัสแร่ใยหินเป็นกรณีศึกษาเสนอรัฐบาลให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินทันที ด้าน A-BAN ประกาศ 1 ประเทศยกเลิก ทุกประเทศต้องยกเลิก

วันนี้ (19 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น.ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ นพ.อดุลย์ บัณฑุกุล หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี กล่าวภายหลังการประชุมของกลุ่มรณรงค์ยกเลิกการใช้แร่ใยหินแห่งเอเชีย(A-BAN) และการแถลงข่าว “คำประกาศกรุงเทพฯ ยกเลิกแร่ใยหินแห่งเอเชีย-1 ประเทศยกเลิก ทุกประเทศยกเลิก” ว่า ขณะนี้หลายประเทศในกลุ่ม A-BAN ยังไม่มีความตระหนักถึงอันตรายของแร่ใยหินมากเท่าที่ควร แต่ได้เริ่มมีการรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้ว ทั้งอินโดนีเซีย ลาว เวียดนาม จีน อิหร่าน ฯลฯ อย่างอินโดนีเซียพยายามให้การศึกษา และให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของแร่ใยหิน มีการรณรงค์ให้คนงานเรียกร้องเงินชดเชยเมื่อเป็นโรคจากการทำงานที่สัมผัสแร่ใยหิน คือ โรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ส่วนฮ่องกงมีแนวโน้มสูงว่าภายในปี 2556 จะสามารถออกกฎหมายบังคับยกเลิกการใช้แร่ใยหินได้ นับว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพของประชาชน

นพ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า ส่วนประเทศไทยมีการร่วมมือกันของหลายองค์กรแล้ว ทั้งจากนักวิชาการ สมาคมวิชาชีพ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ในการตั้ง T-BAN เพื่อที่จะสนับสนุนยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 เมษายน 2554 ที่เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ.2553 มติ 1 มาตรการทำให้สังคมไร้แร่ใยหิน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการปฏิบัติตามมติ ครม.แต่อย่างใด ทั้งนี้ T-BAN จะเร่งค้นหาผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดซึ่งเกิดจากการทำงานสัมผัสแร่ใยหิน เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้รัฐบาลเห็นว่า การใช้แร่ใยหินส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง และต้องมีการบังคับให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินโดยทันที

“สำหรับการค้นหาผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่เกิดจากการสัมผัสแร่ใยหิน จะอาศัยจากการซักประวัติการทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับแร่ใยหินและมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรค อาทิ การทำกระเบื้องมุงหลังคา ปูนซีเมนต์ การรื้อถอนอาคาร เป็นต้น ซึ่งตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา เราพบผู้ป่วยแล้ว 3 ราย ซึ่งมีการประกาศลงในวารสารว่ามีการทำงานสัมผัสแร่ใยหินจนป่วยเป็นโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเสียชีวิตในที่สุด ส่วนในปีนี้เราพบเคสผู้ป่วยเพิ่มอีก 2 ราย” นพ.อดุลย์ กล่าว

นพ.อดุลย์ กล่าวด้วยว่า เคสผู้ป่วยจากการทำงานสัมผัสแร่ใยหินจะมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากประเทศไทยยังคงมีการนำเข้าแร่ใยหินเป็นปริมาณมากจนติดอันดับประเทศต้นๆ ของโลกที่มีการนำเข้าแร่ใยหิน เพราะมีราคาถูก ใช้งานง่าย คงทน และมีความคุ้นเคย แม้จะมีวัสดุอื่นที่สามารถนำมาใช้งานแทนได้ก็ตาม อาทิ เซลูโลส โพลีไวนิล แต่การนำเข้าแพงกว่ามาก ซึ่งปัจจุบันมีเพียงโรงงานใหญ่ๆ ไม่กี่แห่งเท่านั้นที่หันมาใช้วัสดุพวกนี้แทนแร่ใยหินแล้ว เช่น ปูนซีเมนต์ไทย ดังนั้น จึงต้องมีการเร่งรณรงค์ให้มีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยอย่างจริงจัง เนื่องจากในต่างประเทศมีข้องบ่งชี้ถึงการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมที่ส่งเสริมให้เกิดสังคมไร้แร่ใยหินแล้ว จึงเป็นที่มาของการประชุมเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งเอเชีย และคำประกาศกรุงเทพฯ ว่าด้วยการยกเลิกการใช้แร่ใยหินของเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งเอเชีย-หนึ่งประเทศในเอเชียยกเลิกทุกประเทศต้องยกเลิก เพื่อกระตุ้นรัฐบาลให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน แต่ต้องรอดูท่าทีจากรัฐบาลอีกว่า จะดำเนินงานตามที่ A-BAN เสนอหรือไม่

นพ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า สาระคำประกาศฯ มีรายละเอียดดังนี้ 1.สนับสนุนการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยโดยทันที ตามมติ ครม.วันที่ 12 เมษายน 2554 ที่เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ.2553 มติ 1 มาตรการทำให้สังคมไร้แร่ใยหิน 2.ประเทศใดในทวีปเอเชียยกเลิก ประเทศที่เหลือก็ควรยกเลิกด้วย ในเอเชีย ญี่ปุ่น เกาหลี ได้ตระหนักถึงอันตรายของแร่ใยหินแล้ว แต่ในประเทศไทย อินโดนีเซีย จีน ฯลฯ ยังไม่ได้ตระหนักเรื่องดังกล่าว ฉะนั้น ประชาชนในทวีปเอเชียทั้งหมดควรมีสิทธิ์ที่มีชีวิตปลอดภัยจากแร่ใยหิน 3.ต้องไม่ใช้การกดดันทางการค้ามาเป็นเงื่อนไขไม่ให้ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน โดยผู้แทน A-BAN มีมติให้ใช้ทุกทางในการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ได้แก่ กฎหมาย การเมือง และการทูต และ 4.ควรส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการยกเลิกแร่ใยหินให้กับประเทศลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า มาเลเซีย โดยประเทศที่ยกเลิกแล้วจะมีการให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนกับประเทศที่ยังไม่ได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน

นางลอรี คาซาน-ออลแลน เลขาธิการไอแบส (International Ban Asbestos Secretariat : IBAS) กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีการโฆษณาชวนเชื่อทางการค้าว่า การใช้แร่ใยหินไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพ และมีการให้ร้ายป้ายสีองค์กรที่ออกมารณรงค์เรื่องการยกเลิกใช้แร่ใยหินว่ามีการรับเงิน เพื่อออกมาต่อต้านการใช้แร่ใยหิน ซึ่งไม่เป็นความจริง เราจะรณรงค์ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไปทั่วโลก เพื่อปกป้องสุขภาพของมนุษยชาติ ไม่มีการโฆษณาชวนเชื่อ และจะเดินหน้ารณรงค์ต่อไป

Mr.Ju Yol Jung ชาวเกาหลีผู้ได้รับผลกระทบจากการทำงานสัมผัสแร่ใยหิน กล่าวว่า ตนเคยทำเหมืองแร่ใยหินมาตั้งแต่ปี 1958 โดยเมื่อ 4 ปีที่แล้วได้รับการตรวจคัดกรองว่าเป็นโรคจากแร่ใยหินหรือไม่ และพบว่า ตนเองป่วย นอกจากนี้ คนในเมืองเดียวกับตนก็เสียชีวิตและเป็นทุกข์จากโรคที่เกิดจากแร่ใยหินอีกเป็นจำนวนมาก ในฐานะที่มีประสบการณ์สามารถพูดได้ว่า มีแต่การยกเลิกใช้แร่ใยหินเท่านั้นจึงจะหยุดความเสียหายได้ ตนได้ยินว่าไทยยังเป็นประเทศที่นำเข้าแร่ใยหินเป็นจำนวนมากอยู่ จึงหวังว่าไทยจะไม่เดินซ้ำรอยเกาหลี ไม่มีผู้ป่วย และไม่ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหินเหมือนตน
กำลังโหลดความคิดเห็น