เรียงคิวควบคุมการเบิกค่ายาในสิทธิสวัสดิการข้าราชการ กรมบัญชีกลางจ่อประกาศควบคุม “ยาลดไขมันในเลือด” ภายใน ธ.ค.นี้ ต่อจากยาข้อเสื่อม เผยมีอีก 7 รายการที่เล็งจะควบคุม ด้าน สวปก.ชี้ลดค่าใช้จ่ายได้จริง
นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่ายค่าตรวจวินิจฉัย และค่าบริการทางการแพทย์ ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ที่มี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน กล่าวว่า ระบบสิทธิสวัสดิการข้าราชการเป็นกองทุนสุขภาพที่มีปัญหาค่าใช้จ่ายด้านยาสูงที่สุด เนื่องจากมีการใช้ยานอกบัญชียาหลักในผู้ป่วยนอกสูงมาก โดยในปี 2554 มีมูลค่าการใช้ยาในกลุ่มนี้ถึง 40,000 กว่าล้านบาท ขณะที่ผู้ป่วยในพบประมาณ 16,000 กว่าล้านบาท จึงต้องมีการควบคุมค่าใช้จ่ายของระบบประกันสุขภาพภาครัฐ ซึ่งแนวทางในการควบคุมนั้นขณะนี้ได้มีการควบคุมการเบิกค่ายากลูโคซามีนซัลเฟตหรือยาข้อเสื่อม โดยให้เบิกจ่ายได้ตามข้อบ่งชี้ หมายความว่า หากแพทย์จะสั่งยาดังกล่าวจะต้องเขียนใบเบิกให้มีรายละเอียดถึงความจำเป็น ซึ่งทำให้ยุ่งยากมากขึ้น หรือหากผู้ป่วยต้องการก็สามารถใช้ได้แต่ต้องซื้อเอง
“ก่อนหน้านี้กรมบัญชีกลางต้องการให้ห้ามใช้เลย แต่ทาง รมว.สาธารณสุข มองว่าควรเป็นการควบคุมดีกว่า ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้หายใจ แม้การควบคุมจะไม่ช่วยลดค่าใช้จ่ายจนเหลือศูนย์บาท แต่สามารถลดลงได้มหาศาล คือจากการเบิกมากถึง 600 ล้านบาทเหลือเพียงปีละ 10 ล้านบาท ซึ่งถือว่าคุ้มค่า อย่างไรก็ตาม นอกจากการควบคุมยาดังกล่าวแล้วจะมีการพิจารณาในการควบคุมยาตัวอื่นๆ อีก 8 ตัวด้วย” นพ.สัมฤทธิ์กล่าว
นพ.สัมฤทธิ์กล่าวอีกว่า เดิมกรมบัญชีกลางกำหนดยาที่ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด 9 ตัว ประกอบด้วย ยาลดไขมันในเลือด ยาลดการเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาเบื้องต้นในการรักษาความดันโลหิตสูง และหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง ยาลดความดันโลหิต ยาป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ยาป้องกันกระดูกพรุน ยารักษามะเร็ง และยาข้อเสื่อม ซึ่งยาข้อเสื่อมนี้มีการควบคุมแล้ว โดยแนวโน้มยาที่จะถูกควบคุมเป็นตัวถัดไปคือ ยาลดไขมันในเลือด คาดว่าน่า จะมีผลอย่างเร็วภายในเดือนธันวาคมนี้ เนื่องจาดมีมูลค่าการใช้สูงถึงปีละ 4 พันล้านบาท มีผู้ป่วยใช้ยาเยอะมากแต่ไม่มีการควบคุม จึงมีแนวโน้มจะควบคุมการใช้ยา โดยให้เป็นไปตามข้อกำหนดของราชวิทยาลัยฯ ซึ่งจะออกมาลักษณะเดียวกับการควบคุมยาข้อเสื่อมกลูโคซามีน