xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภา-สธ.ชี้เดินหน้า 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 รพ.มีปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
หารือ 3 ประกาศกรมบัญชีกลาง ด้านสมาคม ขรก. ขอความเห็นใจระงับเรื่อง ด้านแพทยสภา-สธ.ชี้ เดินหน้า 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 รพ.มีปัญหา

วันนี้ (18 ต.ค.) ที่อาคารรัฐสภา 2 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร กล่าวระหว่างการประชุมพิจารณาข้อร้องเรียนกรณีประกาศกรมบัญชีกลางในการควบคุมการเบิกจ่ายยา ซึ่งมี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ประธานคณะกรรมาธิการ เป็นประธานการประชุม ว่า ข้อร้องเรียนประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ 1.กรณีเจ็บป่วยโรคเรื้อรังต้องลงทะเบียนในระบบเบิกจ่ายตรงไว้กับโรงพยาบาลเพื่อเป็นสถานพยาบาลประจำตัวเพียง 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 แห่ง โดยต้องลงทะเบียนให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2555 2.ข้อกำหนดเกณฑ์การเบิกค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และ 3.กรมบัญชีกลางมีประกาศห้ามเบิกจ่ายยาบรรเทาข้อเสื่อม หรือยากลูโคซามีนซัลเฟตในระบบตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ ซึ่งประกาศดังกล่าวมีข้อถกเถียงมาก โดยคณะกรรมาธิการฯ จะรับฟังปัญหาต่างๆ และนำกลับไปพิจารณาว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา สมาชิกสมาคมข้าราชการพลเรือนอาวุโส กล่าวว่า การประกาศของกรมบัญชีกลางทั้ง 3 ฉบับ ไม่ได้คำนึงผลกระทบของข้าราชการ อาทิ การห้ามเบิกจ่ายยากลูโคซามีนซัลเฟต โดยให้หันไปใช้ยา NSAIDS ซึ่งเป็นยาที่มีความเสี่ยงทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหาร และแนวโน้มจะสั่งห้ามจ่ายยาโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็น 1 ใน 9 กลุ่มยาที่กรมบัญชีกลางสั่งควบคุมก่อนหน้านี้ ได้แก่ 1.กลุ่มยาลดไขมันในเลือด 2.กลุ่มยาลดการเป็นแผลและเลือดออกในกระเพาะอาหาร 3.กลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ 4.กลุ่มยาเบื้องต้นในการรักษาความดันโลหิตสูงและหัวใจล้มเหลวแบบเลือดคั่ง 5.กลุ่มยาลดความดันโลหิต 6.กลุ่มยาป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด 7.กลุ่มยาป้องกันกระดูกพรุน 8.กลุ่มยารักษามะเร็ง และ 9.ยาข้อเสื่อม ซึ่งมาตรการเหล่านี้ส่งผลต่อผู้ป่วยสูงอายุมาก หรือไม่เห็นคุณค่าของคนกลุ่มนี้แล้ว

“การกำหนดเกณฑ์เบิกยานอกบัญชียาหลักฯ เป็นการละเมิดวิชาชีพแพทย์ และยังมีความพยายามบังคับให้แพทย์จ่ายยาบางอย่าง ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วยด้วย เนื่องจากทำให้แพทย์ไม่สะดวกในการรักษาผู้ป่วย เพราะต้องกรอกแบบฟอร์มมากมายก่อนรักษา และหากจะใช้ยานอกบัญชียาหลักฯ จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง อาทิ ให้ใช้ยาในบัญชียาหลักฯก่อน หากอาการไม่ดีขึ้น มีผลข้างเคียง จึงใช้ยาอื่นๆได้ วิธีนี้ถามว่า ต้องรอให้ผู้ป่วยอาการรุนแรงก่อนหรืออย่างไร จึงขอให้คณะกรรมาธิการพิจารณาข้อร้องเรียน และทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลางถึงความเดือดร้อนดังกล่าว และขอให้ระงับประกาศไปก่อน โดยให้มีการหารือจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเช่นนี้” พญ.เชิดชู กล่าว

ด้าน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า การกำหนดให้ 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 โรงพยาบาล ถือว่าน้อยเกินไป ทำให้คนไข้เกิดการกระจุกตัว หากจะทำมี 2 ทางเลือก คือ 1.เพิ่ม รพ.ลงทะเบียน เป็น 2 แห่ง อาจมีรพ.ใกล้บ้าน และใกล้ที่ทำงาน และ 2.กรณีรักษา รพ.นอกเหนือจากการลงทะเบียน ให้สำรองจ่ายก่อน และไปเบิกกับกรมบัญชีกลาง

นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การลงทะเบียน 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 รพ.ขัดกับนโยบาย สธ. เรื่องลดความแออัด เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไปลงทะเบียนที่ รพ.ขนาดใหญ่ แต่ขณะนี้ สธ.พยายามรักษาผ่านเครือข่าย อย่าง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) อย่างโรคเบาหวาน ที่ไม่รุนแรง หากรักษา รพ.สต.ได้ก็รักษา แต่หากเจาะเลือด ตรวจภาวะแทรกซ้อนก็อาจมา รพ.อำเภอ หรือจังหวัด

นายนพงศ์ ศิริขันตยกุล รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การให้ลงทะเบียน 1 โรคเรื้อรังต่อ 1 รพ.นั้น เพราะที่ผ่านมาผู้ป่วยไปใช้บริการมาก และมีการรับยาซ้ำซ้อน ทำให้จ่ายยามากเกินความจำเป็น จึงต้องควบคุม ซึ่งหากผู้ป่วย 1 รายมีโรคเรื้อรังหลายโรค ก็สามารถรักษา รพ.อื่นได้ และหากต้องการย้าย รพ.ก็ทำได้ ไม่ยุ่งยาก ส่วนการกำหนดเกณฑ์การเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักฯ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2555 เนื่องจากมีการใช้ยากลุ่มนี้มากเกินไป และใช้เป็นยาขนานแรก โดยไม่ระบุเหตุผล ทั้งๆ ที่ยาในบัญชียาหลักฯ ก็ใช้ได้ ซึ่งไม่ได้ห้ามใช้ยานอกบัญชียาหลักฯ เพียงแต่ต้องมีเกณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามดุลพินิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น