xs
xsm
sm
md
lg

ขรก.เฉ่ง ก.คลัง เลิกจ่ายกลูโคซามีน เล็งฟ้องศาลปกครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมข้าราชการพลเรือนอาวุโส เม้ง ก.คลังยกเลิกเบิกจ่ายกลูโคซามีน ชี้ ละเมิดสิทธิผู้ป่วยและข้าราชการ เล็งฟ้องศาลปกครอง ด้านเลขาฯแพทยสภา แนะควรให้แพทย์ใช้ยาตัวอื่นแทนไปก่อน แต่ไม่ควรไปห้าม

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา สมาชิกสมาคมข้าราชการพลเรือนอาวุโส กล่าวถึงกรณีกระทรวงการคลังทำหนังสือด่วนถึงหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เรื่อง การห้ามเบิกค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต สำหรับผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการ เนื่องจากมีต้นทุนอรรถประโยชน์สูงกว่า 3 เท่าของรายได้ประชากรไทยต่อคนต่อปี จึงยังไม่มีความคุ้มค่าในบริบทของประเทศไทย ว่า กระทรวงการคลังยกเลิกการเบิกจ่ายยากลูโคซามีนซัลเฟตเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เข้าข่ายละเมิดสิทธิผู้ป่วยห้ามไม่ให้ใช้ยาและละเมิดสิทธิข้าราชการ ทั้งนี้ เมื่อปี 2550 กรมบัญชีกลางเคยมีหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานกฤษฎีกาว่าจะไม่ให้ข้าราชการ ใช้ยาตัวนั้นตัวนี้ได้หรือไม่ ได้รับคำตอบว่า การไม่ให้ใช้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะเป็นเหมือนพันธสัญญาที่จะต้องให้กับข้าราชการที่ยินยอมได้รับเงินเดือนน้อยและปฏิบัติตามกฎระเบียบของข้าราชการ จนเมื่อปี 2553 กระทรวงการคลังได้มีการแก้ไขเพื่อให้อำนาจกระทรวงการคลังกำหนดยาที่จะให้ หรือไม่ให้กับผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการข้าราชการได้เอง
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
พญ.เชิดชู กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา แพทยสภาเคยทำหนังสือแจ้งแล้วว่าในประเทศไทยกลูโคซามีนใช้เป็นยา เช่นเดียวกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ให้ข้อมูลว่า ขึ้นทะเบียนกลูโคซามีนเป็นยา ซึ่งราคาไม่แพงเพียงห่อละ 15 บาท หากเป็นกลูโคซามีนที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แต่เป็นยาที่มีความจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุที่ข้อเข่าเสื่อม เพราะจะมีอาการปวดและทรมาน จึงต้องรับประทานกลูโคซามีน เท่าที่ทราบ ผู้ที่ต้องใช้ยากลูโคซามีนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งสิทธิสวัสดิการข้าราชการมีผู้สูงอายุจำนวนมาก ทั้งในส่วนที่เป็นข้าราชการบำนาญและบิดามารดาของข้าราชการ ดังนั้น การยกเลิกการเบิกจ่ายครั้งนี้ อาจไม่กระทบกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีกำลัง ทรัพย์ที่จะซื้อยาได้เอง แต่จะกระทบกับข้าราชการผู้น้อยที่มีเงินเดือนน้อยและผู้ที่เกษียณซึ่งได้รับเงินบำนาญน้อยกว่าเงินเดือนลงไปอีก

พญ.เชิดชู กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา สมาชิกสมาคมที่มีนายอรุณ งามดี อดีตอธิบกรมประชาสัมพันธ์เป็นประธานได้มีการหารือในเรื่องนี้ และมีการตั้งคณะทำงานศึกษาปัญหาเรื่องกลูโคซามีนและเรียกร้องสิทธิ โดยมีอดีตอัยการเป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งจะทำการศึกษาข้อกฎหมายก่อนมีมาตรการต่อไป เนื่องจากทุกคนเห็นว่าข้าราชการถูกละเมิดสิทธิ์ จากนั้นจะมีการหารือกันอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะยื่นฟ้องศาลปกครอง

ด้าน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า เมื่อกระทรวงการคลังมีหนังสือดังกล่าว ย่อมเป็นที่สิ้นสุด เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการพิจารณาหลายครั้ง แม้ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย จะมีรายงานวิจัยว่ายาตัวนี้ใช้ได้ผล แต่ทางคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเห็นว่ารายงานดังกล่าวไม่เพียงพอ ตรงนี้ก็คงไม่มีอะไรจะแย้ง แต่โดยส่วนตัวมองว่า กระทรวงการคลังไม่ควรห้ามเบิกจ่ายยาตัวนี้เลย แต่ควรให้แพทย์ใช้ยาตัวอื่นในการรักษาข้อเข่าเสื่อมไปก่อน ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด หรือการบริหารข้อเข่าต่างๆ แต่หากการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ไม่ได้ผล ก็ควรอนุญาตให้ใช้ยากลูโคซามีนได้ ซึ่งวิธีนี้ก็จะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายยาราคาแพงได้เช่นกัน เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของกรมบัญชีกลางเดิม ที่กำหนดให้แพทย์ใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติก่อน หากการรักษาไม่ได้ผลจึงให้ใช้ยานอกบัญชียาหลักฯได้

โดยหลักแล้วไม่ ควรห้ามใช้ยาตัวใดตัวหนึ่ง เพราะผู้ป่วยบางรายอาจใช้ยาบางกลุ่มไม่ได้ แต่อาจใช้ยาอีกกลุ่มได้ ตรงนี้อยู่ที่แพทย์วินิจฉัย แต่หลักการต้องให้ใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติก่อน หากไม่ได้ผลอย่างไรจึงเปลี่ยนเป็นยานอกบัญชียาหลัก แต่ เมื่อมีมติเช่นนี้ก็ต้องยอมรับ ซึ่งโรงพยาบาลต่างๆ คงต้องเตรียมพร้อมสร้างความเข้าใจให้ทั้งแพทย์ และผู้ป่วยทราบอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาไม่เข้าใจกันได้ แต่หากไม่ทำก็จะผิดระเบียบกรมบัญชีกลางอีก” นพ.สัมพันธ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น