ผู้ป่วยข้าราชการเล็งฟ้องกรมบัญชีกลาง หลังออกประกาศ 3 ฉบับไม่ชอบธรรม แนะกลับไปใช้วิธีจ่ายก่อนเบิกทีหลังแทนระบบเบิกจ่ายตรง จึงช่วยคุมค่ารักษาพยาบาลได้
พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า หลังจากกระทรวงการคลัง มีหนังสือถึงหัวหน้าส่วนราชการทั่วประเทศ 3 ฉบับ คือ 1.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังสิทธิข้าราชการต้องลงทะเบียนในระบบเบิกจ่ายตรงไว้กับโรงพยาบาลเพียง 1 โรงพยาบาลต่อ 1 โรคเรื้อรัง มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2555 2.การระบุเหตุผลการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อใช้ประกอบการเบิกจ่าย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา และ 3.การห้ามเบิกค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต หรือยารักษาอาการข้อเสื่อม มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 นั้น ในฐานะที่ตนเป็นแพทย์สังกัดโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นข้าราชการคนหนึ่ง เห็นว่า ประกาศทั้ง 3 ฉบับของกรมบัญชีกลาง ไม่มีความเป็นธรรม และยังเป็นการโยนภาระให้แพทย์ด้วย เนื่องจากต้องเป็นผู้แจ้งกับผู้ป่วยเอง เพราะเรื่องส่งตรงให้หัวหน้าหน่วยราชการหรือโรงพยาบาล ทั้งๆที่ประกาศเหล่านี้ส่งผลโดยตรง ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วย โดยเฉพาะกรณีการระบุเหตุผลการใช้ยานอกบัญชียาหลักฯ โดยระบุเป็นข้อ A B C D E และ F โดยหากเหนือจากเหตุผลที่กำหนด จะเข้าข่ายข้อ F คือ หากผู้ป่วยต้องการยานอกบัญชียาหลักฯ ต้องจ่ายเงินเอง
พญ.ประชุมพร กล่าวอีกว่า เหตุผลแต่ละข้อนั้นไม่ชัดเจน ไม่อิงถึงความเป็นจริง อย่างข้อ A เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ยกตัวอย่าง ไอเรื้อรัง ซึ่งอาจมาจากยา หรือจากโรคบางโรค มีผลต่อการดำเนินชีวิต แบบนี้ไม่เข้าหรือไม่ หรือข้อ B ผลการรักษาไม่บรรลุเป้าหมายแม้ว่าได้ใช้ยาในบัญชียาหลักฯครบแล้วก็ตาม ต้องถามว่า แบบนี้แสดงว่าต้องให้ผู้ป่วยอาการรุนแรงก่อนหรือไม่ เป็นการเสียโอกาสการรักษาหรือไม่ การทำเช่นนี้รวมถึงการห้ามเบิกจ่ายยากลูโคซามีนซัลเฟต ทั้งๆที่ควรมีข้อกำหนดว่าใช้ได้กี่เดือนๆ แต่กลับห้ามเด็ดขาด แบบนี้ถือว่า ลิดรอนสิทธิข้าราชการ และยังบีบบังคับแพทย์ให้ทำตามอย่างเคร่งครัด หากพบว่าสถานพยาบาลใดไม่ปฏิบัติตาม จะเรียกเงินคืนทั้งหมดของรายการยานั้นๆ แบบนี้ยุติธรรมหรือไม่
“ในสัปดาห์หน้าจะมีการหารืออีกครั้งว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม เพราะมีคนเตือนว่าข้าราชการฟ้องข้าราชการไม่ได้ แต่พวกเรามองว่าเป็นสิทธิพึงทำได้ เนื่องจากเมื่อข้าราชการไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกละเมิดสิทธิย่อมมีสิทธิตามเงื่อนไข และตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ม.51 ระบุชัดว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสม และได้มาตรฐาน ดังนั้น ถือว่ากรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังละเมิด ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้มีทางออกง่ายๆ เพราะเดิมทีกรมบัญชีกลางไม่ได้ใช้วิธีการเบิกจ่ายแบบทุกวันนี้ แต่ใช้วิธีให้ผู้ป่วยข้าราชการสำรองจ่ายก่อน และนำใบเสร็จไปเบิก ซึ่งก่อนหน้านั้นเงินค่ารักษาพยาบาลอยู่ที่ 2-3 หมื่นล้านบาท แต่พอเปลี่ยนระบบก็พุ่งเป็น 5-6 หมื่นล้านบาท ถามว่า ถ้าต้องการควบคุมค่าใช้จ่าย ทางที่ดีคือ ต้องยกเลิกใช้ระบบเบิกจ่ายตรง และใช้ระบบจ่ายก่อนเบิกทีหลังแทน” พญ.ประชุมพร กล่าว