xs
xsm
sm
md
lg

3-4 ปีวิกฤติหนี้สาธารณะ ส.ว.หวั่นไทยพังรุมสับ“เลดี้ กูกู้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(15 ต.ค.55) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมวุฒิสภา ช่วงหารือ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้หารือเพื่อเตือนรัฐบาลใช้ความระมัดระวังต่อการทำโครงการประชานิยม ที่อาจจะทำให้เกิดหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล และกลายเป็นวิกฤตต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ใน 3-4 ปีข้างหน้า หากเกิดขึ้นจริงวิกฤตเศรษฐกิจจะไม่เหมือนกับวิกฤตที่เกิดในปี 2540 ซึ่งเกิดจากภาคเอกชน และภาครัฐกู้เงินเพื่อช่วยเหลือ เพราะวิกฤตที่อาจเกิดรอบใหม่ เป็นวิกฤตที่เกิดจากโลก และเกิดจากหนี้ภาครัฐ และทำให้ภาครัฐจะไม่มีกำลังกู้ยืมเงินเพื่อมาช่วยเหลือ
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 55 มีการประเมินหนี้สาธารณะคงค้าง พบว่ามียอดทั้งสิ้น 4.7 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 43.34 ของจีดีพี และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนก่อหนี้สาธารณะ ปี 2556 จำนวน 1.92 ล้านล้านบาท เป็นคิดเป็นหนี้ใหม่จำนวน 9.59 แสนล้านบาท และเป็นหนี้เก่าที่ปรับโครงสร้างหนี้ อีกจำนวน 7.37 ล้านล้านบาท ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คาดว่าปี 2556 หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 47.5 ของจีดีพี และจากการประมาณการของสำนักบริหารหนี้สาธารณะ พบว่าจำนวนของหนี้สาธารณะจะขึ้นสูงสุด ในปีงบประมาณ 2559 แต่ล่าสุดนั้น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นว่า สถิติหนี้สาธารณะของประเทศไทยนั้นล้าสมัย เพราะโครงการใดที่ยังไม่จบ เช่น โครงการรับจำนำข้าว จะไม่ถูกนับรวมเป็นหนี้สาธารณะ ดังนั้นโอกาสที่หนี้สาธารณะจะสูงกว่าตัวเลขที่ประมาณการณ์ไว้จึงมีสูง
ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธารานนท์ ส.ว.สรรหา หารือต่อที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อให้รัฐบาล ทบทวนคำสั่งของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับสวัสดิการของข้าราชการและครอบครัวสายตรง ต่อสวัสดิการรักษาพยาบาล คือ กรณีที่ 1 วันที่ 1 ต.ค. 55 ในการรักษาผู้ป่วยจะต้องใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติก่อน หากแพ้ หรือมีผลกระทบ หรือ ไม่ได้ผล จึงจะใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติได้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการป้องกันการสูญเสียเงิน ซื้อยาจากนอกประเทศ และลดการใช้ยาแบบฟุ่มเฟือยของแพทย์ได้ แต่การประกาศดังกล่าวได้รับผลกระทบจากผู้ที่ใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติในปัจจุบัน และเหมือนกับการนำข้าราชการไปทดลองสำหรับผู้ที่ใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ
นพ.เจตน์ กล่าวต่อว่า กรณีที่ 2 วันที่ 1 พ.ย. 55 ยกเลิกการใช้ยาคูโคตามีน ที่ใช้รักษาโรคข้อเข่าเสื่อมทุกกรณี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ยังใช้ยาในปัจจุบันและให้เลิกกระทันหัน โดยไม่มีข้อยกเว้น จะทำให้มีปัญหาต่อข้าราชการที่ใช้ยาอยู่ในปัจจุบัน และกรณีที่ 3 วันที่ 1 ธ.ค. 55 โรคเรื้อรัง 1 โรค จะสามารถลงทะเบียนรักษากับโรงพยาบาลได้โรคละ 1 แห่งเท่านั้น ซึ่งมีผลกระทบ คือ ข้าราชการจำนวนมาก ได้ลงทะเบียนรักษากับโรงพยาบาลหลายแห่ง และจะมีปัญหาต่อการส่งต่อผู้ป่วย ของกระทรวงสาธารณสุข
ตนขอให้รัฐบาลทบทวน กรณีที่รัฐบาลจำกัดการลงทะเบียน เทียบกับการลงทะเบียนผู้ป่วยหลักประกันถ้วนหน้าและประกันสังคม ซึ่งลงทะเบียนรักษาได้ 2 แห่ง ประเด็นดังกล่าวตนเข้าใจว่ารัฐบาลต้องการประหยัดงบประมาณ และนำเงินไปช่วยนโยบายประชานิยม อาทิ โครงการรับจำนำข้าว โคงรการรถยนต์คันแรก โครงการแท็ปเล็ต ถือว่าไม่เป็นยุติธรรมกับข้าราชการ ที่มีกว่า 5 ล้านคน

** ไม่เห็นด้วยรัฐใช้ประชานิยมหวังคะแนน
อีกด้าน ผศ.ดร.สุรชัย กังวล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า แม่โจ้โพลล์ ทำการสำรวจ ความคิดเห็นนักวิชาการเกษตรทั่วประเทศต่อการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 10 กันยายน-12 ตุลาคม จำนวน 261 ราย ในหัวข้อ "นักวิชาการเกษตรคิดอย่างไรกับนโยบายการพัฒนาภาคเกษตรกรรรมไทยวันนี้"
โดยผลการสำรวจระบุว่า นักวิชาการเกษตร ร้อยละ 98.5 เห็นว่าภาคเกษตรกรรมยังคงมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะเป็นอาชีพของประชาชนคนไทยส่วนใหญ่รวมถึงการมีพื้นที่เหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรมและเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก โดยมีเพียงร้อยละ 1.5 ที่เห็นว่าไม่มีความสำคัญแล้ว เพราะภาครัฐได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้านภาคอุตสาหกรรมและบริการมากยิ่งขึ้น
ส่วนเรื่องนโยบายการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่านักวิชาการเกษตรส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.4 เห็นว่า เป็นนโยบายที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นนโยบายประชานิยมที่หวังผลประโยชน์ทางการเมืองและมีการแทรกแซงด้านราคาและตลาด ทำให้เกษตรกรไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ส่วนอีกร้อยละ 45.6 เห็นว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้อง เพราะมีการสนับสนุนให้ประเทศไทยมีความเป็นเลิศด้านการเกษตรและเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก
ด้านความคิดเห็นต่อประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับจากนโยบายด้านการเกษตรที่รัฐบาลมีการประกาศใช้ โดยกำหนดให้มีคะแนนเต็ม 5 คะแนนนั้นพบว่า นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรได้คะแนนมากที่สุด 2.93 คะแนน รองลงมาคือ นโยบายรับจำนำ มีคะแนน 2.58 และนโยบายบัตรเครดิตเกษตรกร มีคะแนน 2.40 ซึ่งหากพิจารณาจะพบว่านโยบายบัตรเครดิตเกษตรกรมีคะแนนไม่ถึงครึ่ง แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้น้อย
เมื่อสอบถามปัญหาด้านการเกษตรที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาภาคเกษตรกรรรมของประเทศไทย พบว่า อับดับ 1 คือปัญหาต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูง ร้อยละ 37.9 อันดับ 2 คือปัญหาภาระหนี้สินของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.7 อันดับ 3 ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรไม่มีคุณภาพ ร้อยละ 21.1 อันดับ 4 คือ ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร ร้อยละ 20.7 และอันดับ 5 คือปัญหาการผลิตที่เน้นการใช้สารเคมี ร้อยละ 16.5
ผศ.ดร.สุรชัย กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยเพื่อให้เกิดความยั่งยืนนั้น ร้อยละ 37.0 แนะว่ารัฐบาลต้องมีความจริงใจในการดำเนินนโยบายเพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่มุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง รองลงมาร้อยละ 26.1 แนะควรพัฒนาความรู้แก่เกษตรกรในด้านการผลิตและการตลาดตลอดจนชี้แจงเกษตรกรให้ทราบถึงแนวทางในการพัฒนาด้านการเกษตรของรัฐบาล ร้อยละ 16.6 แนะว่าควรพัฒนาด้านคุณภาพผลผลิตพร้อมลดต้นทุนการผลิต เช่น การทำเกษตรแบบอินทรีย์
กำลังโหลดความคิดเห็น