โดย..สุกัญญา แสงงาม
ใกล้เทศกาลปีใหม่ เชื่อว่า หลายคน หน่วยงานของรัฐ บริษัทเอกชน กำลังมองหาของขวัญ เพื่อมอบให้คนรัก พ่อแม่พี่น้อง ญาติผู้ใหญ่ ลูกน้อง ตลอดจนผู้บริหาร แล้วล่ะก็ ลองคลิก www.culturalmall.in.th จะพบสินค้าวัฒนธรรม ของพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยมกว่า 300 รายการให้เลือก โดยมีผลิตภัณฑ์งานศิลปะและวัฒนธรรม เครื่องใช้และอุปกรณ์แต่งบ้าน อาหาร เครื่องดื่มและของขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและยา เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด
เมื่อคลิกชมสินค้า สนใจชิ้นไหน สั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ จ่ายเงินผ่านธนาคาร แค่นี้ก็เสร็จ ของขวัญที่สั่งซื้อจะห่ออย่างสวยงามแล้วเดลิเวอรีส่งถึงหัวบันไดบ้าน
นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม บอกว่า กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สถาบันการศึกษา องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น นำร่องไซเบอร์มอลล์ สนับสนุนพี่น้องชายแดนใต้ ผลิตสินค้าพื้นบ้าน จำหน่ายผ่านเว็บไซต์ จะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพื่อเลี้ยงชีพ ขณะเดียวกัน เป็นการรื้อฟื้นผลิตภัณฑ์งานศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่บางอย่างใกล้สูญหาย โดยให้บรรพบุรุษถ่ายทอดความรู้สู่รุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ทว่าสอดแทรกเอกลักษณ์ สัญลักษณ์ของท้องถิ่นผ่านผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม นอกจากนี้ จะมีคำอธิบายสั้นๆ ให้คนซื้อและผู้รับ ทราบประวัติความเป็นมาด้วย
ยกตัวอย่างเครื่องจักสานที่ทำจากปอกระจูด ของภาคใต้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ขณะนี้ได้มีการพัฒนาต่อยอดจากเสื่อ มาเป็นของตกแต่งบ้าน ของใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ โคมไฟ กรอบรูป กระเป๋า ฯลฯ อย่างไรก็ตาม จากการระดมความคิดจากหลายหน่วยงาน แนะนำให้ดีไซน์ให้ทันสมัย แล้วนำเอกลักษณ์พื้นบ้าน อย่างเรือกอและ ลวดลายบาติก สอดแทรกไว้บนผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นๆ เมื่อเห็นจะรู้ทันทีว่า นี่คือผลิตภัณฑ์ของภาคใต้
นายสมชาย เล่าว่า เชื่อว่า หลายคนคงได้ยินชื่อ “เรือกอและ” แต่ไม่รู้ความเป็นมา เราจะมีข้อความอธิบายว่า เรือกอและ เป็นเรือประมงที่แตกต่างจากเรือประมงประเภทอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด เพราะเรือกอและนั้น มีเอกลักษณ์ประจำตัวที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นลวดลายต่างๆ ที่อวดโฉมอยู่บนตัวเรือ ซึ่งมีความวิจิตรสวยงามมาก มีลวดลายที่ผสมผสานระหว่างศิลปะไทย อิสลาม จีน และศิลปะอื่นๆ เนื่องจากอิทธิพลที่ได้รับมาจากสภาพแวดล้อม อันได้แก่ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สังคมความเป็นอยู่ ซึ่งสังคมความเป็นอยู่ในจังหวัดปัตตานีนั้น ประกอบไปด้วย ชนชาติ 3 ชนชาติที่อาศัยอยู่ร่วมกัน นั่นคือ ชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม และชาวจีน นั่นเอง
คราวนี้ขอมาฟัง นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศบาลนครยะลา เล่าให้ฟังว่า เทศบาลนครยะลา จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเสาะแสวงหาผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน รวมถึงสิ่งที่ดีๆ ในพื้นที่ที่กำลังสูญหายไป เพื่อนำมารักษาและพัฒนาให้คงอยู่ พร้อมกันนี้ จะรวบรวมองค์ความรู้ใหม่ๆ มาพัฒนาต่อยอด ถ้าหากเราจำหน่ายสินค้าของพี่น้องชายแดนภาคใต้ จะสร้างกำลังใจให้แก่พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีแรงใจรังสรรค์งานใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น
นับตั้งแต่ภาคใต้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบและคนภายนอกไม่กล้าเข้าไปนั้น ส่งผลให้ชาวบ้านไม่ได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกหลาน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านหลายชิ้นสูญหายไป หากวันนี้เรารื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ นอกจากลูกค้าคนไทยแล้ว จะขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน มาเลเซีย อินโดนีเชีย ได้อีกด้วย เพราะชาวใต้สามารถสื่อสารภาษามลายูได้ ที่สำคัญในอดีตเพื่อบ้านเขานิยมซื้อสินค้าของเรา
... พี่น้องชาวใต้ กำลังรอยอดคลิกสั่งซื้ออย่างใจจดจ่อ และเขามั่นใจด้วยว่าคนไทยไม่ทิ้งคนไทย