รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง รู้เขารู้เราและรู้ทันมะเร็ง ด้วย “พลาสมาดีเอ็นเอ” นวัตกรรมล้ำสมัยที่ไม่ใช่แค่เพียงเสนอทางเลือกใหม่เพื่อ “หนทางรอด” สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง แม้แต่คนที่ยังไม่เป็น ก็สามารถตรวจจับ “ผู้ร้ายในตัวเรา” ตัวนี้ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันก่อนจะสายเกินการณ์
โรคมะเร็งเป็นได้ทุกเพศทุกวัย และคนที่ป่วยด้วยโรคนี้ก็อายุน้อยลงทุกวัน อย่างไรก็ดี มะเร็งนั้นเกิดจากการกลายพันธุ์ การกลายพันธุ์หนึ่งตำแหน่งจะใช้เวลาประมาณสิบปี ดังนั้น จึงไม่แปลกที่อายุยิ่งมาก ยิ่งมีโอกาสเป็นมาก เนื่องจากตลอดการใช้ชีวิต การกลายพันธุ์มันจะค่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะไปเห็นผลเต็มที่ตอนอายุ 50-70 ปี ด้วยเหตุนี้ การตรวจพลาสมาดีเอ็นเอ จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ
รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร นักวิจัยดีเอ็นเอ อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อธิบายว่า การเป็นมะเร็ง ก็คือ การที่เซลล์ในร่างกายของคนเราป่วย และการป่วยของเซลล์ก็เกิดจากการที่ยีนส์ป่วยก่อน แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตอนนี้ ยีนของเราป่วยหรือเปล่า
“มีข่าวที่น่าดีใจมากๆ ก็คือ เมื่อ 8-9 ปีก่อน โครงการที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโครงการถอดรหัสดีเอ็นเอของมนุษย์สำเร็จแล้ว และหลังจากนั้นก็เริ่มมีการถอดรหัสโรคมะเร็งต่อ เมื่อถอดรหัสได้ เราก็จะรู้ได้ว่ามะเร็งชนิดนั้นๆ ที่บุคคลนั้นๆ เป็นอยู่ เกิดขึ้นจากอะไร ยีนตัวไหนที่ผิดปกติ เราก็สามารถสร้างการป้องกัน หรือการรักษาได้ตรงจุด”
ความดีของการทำพลาสมาดีเอ็นเอ หรือการตรวจดีเอ็นเอ อยู่ที่มันเป็นข้อมูลเฉพาะบุคคล เพราะฉะนั้น ความแม่นยำจะมีอยู่สูงมาก เมื่อก่อน เราอาจจะใช้การถอดรหัสดีเอ็นเอเพื่อจับผู้ร้ายหรือโจร แต่เดี๋ยวนี้เขาสามารถใช้ดีเอ็นเอในการตรวจจับผู้ร้ายในตัวเราได้ ผู้ร้ายในตัวเราก็คือโรคชนิดต่างๆ รวมถึงมะเร็งด้วย
“ถ้าเรารู้ก่อน เราก็ป้องกันได้ ถ้าเรารู้ว่าใกล้จะป่วยแล้ว เราก็แก้ไข ก็ถือเป็นการป้องกันได้อย่างหนึ่ง ถ้าป่วยแล้ว เดี๋ยวนี้เขาก็มีการค้นหาตัวยาที่เข้ากับยีนหรือเข้ากับดีเอ็นเอของผู้ป่วยเพื่อจะรักษาให้ถูกต้องเหมาะสม และสำหรับโรคมะเร็ง เราก็สามารถที่จะตรวจเพื่อเลือกยาหรือเลือกการรักษาได้”
คุณสมบัติของการตรวจพลาสมาดีเอ็นเอ ก็คือ ในกรณีที่เป็นผู้ป่วย ตำแหน่งบางตำแหน่งบนดีเอ็นเอ สามารถช่วยทำนายโรคมะเร็งและดูแลได้ทันท่วงที ได้รู้พัฒนาการของโรค และทำให้รู้ว่าผู้ป่วยสามารถจะใช้รังสีรักษาได้หรือไม่ ผู้ป่วยจะโดนรังสีได้หรือไม่ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำให้รู้ว่าผู้ป่วยจะสามารถสนองต่อยาบางตัวบางกลุ่มได้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของยีนที่ชื่อว่าอีจีเอฟอาร์ในมะเร็งปอด ถ้าหากมีการกลายพันธุ์ของยีนนี้ ก็จะตอบสนองต่อยากลุ่มหนึ่งได้ดี
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ยังไม่ป่วยหรือยังไม่เป็นโรค ก็สามารถรับการตรวจพลาสมาดีเอ็นเอได้ เพราะบ่อยครั้ง การกลายพันธุ์จะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยการตรวจตามปกติ เหมือนอย่างที่ รศ.ดร.คล้ายอัปสร เล่าว่า บางคนไปพบแพทย์และตรวจโรคทุก 6 เดือน แต่ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคมะเร็งก็มี พอรู้อีกทีก็ป่วยหนักแล้ว เพราะอันที่จริง การป่วยในระดับดีเอ็นเอ เป็นการป่วยที่มองไม่เห็น
ดังนั้น อย่ารอช้าหรือว่าต้องมีอาการก่อน คุณสามารถรู้ทันมะเร็งได้ตั้งแต่วินาทีนี้ด้วยการตรวจพลาสมาดีเอ็นเอ
ล้อมกรอบ
ขอบคุณข้อมูล : รายการ “ Health Line สายตรงสุขภาพ” รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 7.00-8.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี