xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : สายตรงสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


‘โรคกระดูกพรุน’ ศัตรูของผู้สูงวัย

โรคกระดูกพรุนถือเป็นศัตรูอันดับต้นๆ ของคนสูงวัย บางคนอาจมองว่าไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ถ้ารอให้สายเกินไป ก็อาจ “ตาย” หรือ “พิการ” ได้

พ.อ.รศ.นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ ประธานชมรมผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกพรุน ภายใต้มูลนิธิโรคกระดุกพรุนแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงอาการของโรคชนิดนี้ว่า ได้แก่การที่กระดูกของคนเรามีความผิดปกติ แล้วทำให้มวลกระดูกและความแข็งแรงของกระดูกลดน้อยถอยลง โดยมีลักษณะประการหนึ่งคือ ทำให้กระดูกหักง่ายขึ้น

“โรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่เป็นในผู้สูงวัย อาการที่เห็นได้ทั่วไป เช่น การหกล้ม โดยปกติคนที่ยังอายุไม่มาก ถ้าหกล้มจะไม่ค่อยเป็นอะไร แต่สำหรับผู้สูงวัย ถ้าหกล้มก็อาจมีกระดูกสะโพกหัก กระดูกสันหลังหัก หรือเป็นกระดูกชิ้นอื่นก็หักได้ หรือถ้ายกของหนักๆ ก็อาจทำให้กระดูกสันหลังหักได้”

สาเหตุของโรคกระดูกพรุนมีหลายปัจจัย แต่ที่พบเห็นมาก จะเกิดกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เพราะฮอร์โมนในเพศหญิงที่ชื่อเอสโตรเจน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษากระดูกไม่ให้เกิดการสลายตัว จะลดน้อยลงหรือหายไป กระดูกก็จะเริ่มสลายตัว จึงส่งผลให้ผู้หญิงเป็นโรคกระดูกพรุนง่ายกว่าผู้ชาย คือช่วงอายุราวๆ 60-65 ปี ส่วนผู้ชายช่วงวัย 70 ปีขึ้นไป

พล.ต.ต.นพ.ธนา ธุระเจน กรรมการมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ในการก่อให้เกิดโรคนี้ว่า การดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม อาหารเค็มจัด ก็มีผลเช่นกัน หากรับประทานมากเกินไป

“อีกอย่างหนึ่งคือการได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ แคลเซียมเป็นธาตุประกอบหลักของกระดูก ฉะนั้น ถ้าแคลเซียมน้อย ก็จะทำให้กระดูกสลายตัว หรือถ้าทานแคลเซียมน้อยเกินไป ร่างกายส่วนอื่นที่ต้องการแคลเซียมก็จะไปดึงแคลเซียมจากกระดูก ก็ยิ่งเร่งอัตราการสลายตัวของกระดูก”

นพ.ธนาเปรียบเทียบว่า โรคกระดูกพรุนเหมือนเครื่องบินตก ถ้าไม่ตกก็ไม่หัก และที่สำคัญไม่ใช่โรคร้ายแรงนัก หากเทียบกับโรคอื่น อย่างไรก็ตาม หากปล่อยให้ถึงขั้นกระดูกหักแล้วไม่รักษา ก็อาจจะก่อให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้เช่นกัน

นอกจากการรับประทานแคลเซียมหรืออาหารเสริมจำพวกวิตามินดีให้ได้ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน นพ.ธนาแนะนำว่า วิธีง่ายๆ ที่จะทำให้รอดพ้นจากโรคนี้คือ ถ้าเป็นผู้หญิงถึงวัยหมดประจำเดือนหรืออายุ 60-65 ปี และผู้ชายวัย 70 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจ เพราะถ้าเป็นขึ้นมา จะได้รักษาอย่างทันท่วงที

‘พลาสมาดีเอ็นเอ’ ทางรอดของผู้ป่วยมะเร็ง

โรคมะเร็งเป็นได้ทุกเพศทุกวัย และคนที่ป่วยด้วยโรคนี้ก็อายุน้อยลงทุกวัน อย่างไรก็ดี มะเร็งนั้นเกิดจากการกลายพันธุ์ ซึ่งหนึ่งตำแหน่งจะใช้เวลาประมาณสิบปี ดังนั้น จึงไม่แปลกที่อายุยิ่งมาก ยิ่งมีโอกาสเป็นมาก เนื่องจากการกลายพันธุ์จะค่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะเห็นผลเต็มที่ตอนอายุ 50-70 ปี

ด้วยเหตุนี้ การตรวจพลาสมาดีเอ็นเอ จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ

รศ.น.พ.นรินทร์ วรวุฒิ อาจารย์แพทย์ประจำหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า การเป็นมะเร็งก็คือการที่เซลล์ในร่างกายของคนเราป่วย และการป่วยของเซลล์ก็เกิดจากการที่ยีนป่วยก่อน แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าตอนนี้ ยีนของเราป่วยหรือเปล่า

“มีข่าวที่น่าดีใจมาก คือเมื่อ 8-9 ปีก่อน โครงการที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโครงการถอดรหัสดีเอ็นเอของมนุษย์สำเร็จแล้ว และหลังจากนั้นก็เริ่มมีการถอดรหัสโรคมะเร็งต่อ เมื่อถอดรหัสได้ เราก็จะรู้ได้ว่ามะเร็งชนิดนั้นๆ ที่บุคคลนั้นๆ เป็นอยู่ เกิดขึ้นจากอะไร ยีนตัวไหนที่ผิดปกติ เราก็สามารถสร้างวิธีป้องกัน หรือรักษาได้ตรงจุด”

ขณะเดียวกัน รศ.ดร.คล้ายอัปสร พงศ์รพีพร นักวิจัยดีเอ็นเอ อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความดีของการทำพลาสมาดีเอ็นเอ หรือการตรวจดีเอ็นเอ อยู่ที่มันเป็นข้อมูลเฉพาะบุคคล เพราะฉะนั้น ความแม่นยำจะมีอยู่สูงมาก

“ถ้ารู้ว่าใกล้จะป่วยแล้ว เราก็แก้ไข ก็ถือเป็นการป้องกันได้อย่างหนึ่ง และถ้าป่วยแล้ว เดี๋ยวนี้ก็มีการค้นหาตัวยาที่เข้ากับยีนหรือเข้ากับดีเอ็นเอของผู้ป่วย เพื่อจะรักษาให้ถูกต้องเหมาะสม และสำหรับโรคมะเร็ง เราก็สามารถที่จะตรวจเพื่อเลือกยาหรือเลือกการรักษาได้”

คุณสมบัติของการตรวจพลาสมาดีเอ็นเอ คือ ในกรณีที่เป็นผู้ป่วย ตำแหน่งบางตำแหน่งบนดีเอ็นเอ สามารถช่วยทำนายโรคมะเร็งและดูแลได้ทันท่วงที ได้รู้พัฒนาการของโรค และทำให้รู้ว่าผู้ป่วยสามารถจะใช้รังสีรักษาได้หรือไม่ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำให้รู้ว่าผู้ป่วยจะสามารถสนองต่อยาบางตัวบางกลุ่มได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม รศ.น.พ.นรินทร์ย้ำว่า สำหรับผู้ที่ยังไม่ป่วยเป็นมะเร็ง ก็สามารถรับการตรวจพลาสมาดีเอ็นเอได้ เพราะบ่อยครั้ง การกลายพันธุ์จะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยการตรวจตามปกติ บางคนไปพบแพทย์และตรวจโรคทุก 6 เดือน แต่ไม่รู้ว่าเป็นโรคมะเร็งก็มี พอรู้อีกทีก็ป่วยหนักแล้ว

ดังนั้น คุณสามารถรู้ทันมะเร็งได้ตั้งแต่วินาทีนี้ด้วยการตรวจพลาสมาดีเอ็นเอ

เคล็ดลับออกกำลัง ต้านโรคหัวใจ

สถิติระบุไว้ว่า อัตราการป่วยด้วยโรคหัวใจของคนไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 17,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายวัย 40 และหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป โรคหัวใจจึงถือเป็นอีกโรคหนึ่งซึ่งคร่าชีวิตคนไทยไปปีละไม่น้อย

นพ.เขตต์ ศรีประทักษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา กล่าวว่า ในบรรดาโรคหัวใจที่มีอยู่มากมายหลายชนิดนั้น โรคหัวใจหลอดเลือดตีบ ถือว่า “อันตราย” มากที่สุด เพราะเป็นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้

• 5 สัญญาณอันตราย โรคหลอดเลือดหัวใจ

อาการหลักๆ ที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าว่าโรคหลอดเลือดหัวใจมาเยือนแล้ว มี 5 ประการ คือ

1.เจ็บแน่นหน้าอกที่จำเพาะกับหัวใจ 2.เหนื่อยง่าย 3.ใจสั่น 4.กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน 5.เสียชีวิตแบบปัจจุบัน

อาการ 3 ข้อแรกนั้น แต่ละคนสามารถรับรู้ได้ อย่างไรก็ดี ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถใช้เทคนิคฉีดสีเพื่อวินิจฉัยได้ว่าใครเป็นโรคหัวใจ ถ้าฉีดสีแล้วเห็นว่าเส้นเลือดหัวใจตีบ ก็จะรักษาด้วยการทำบอลลูน

• เคล็ดลับออกกำลังกาย

มีคำถามว่า ผู้เป็นโรคหัวใจสามารถออกกำลังกายได้ไหม และออกเท่าไหร่จึงจะพอดี นพ.เขตต์ให้ความรู้ว่า โดยปกติคนเราถ้าไม่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ สามารถทำได้ไม่จำกัด แต่การออกกำลังกายที่ดี ควรจะอยู่ที่ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที

แต่สำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจ ต้องดูเป็นรายๆไป เพราะสมมุติว่าคนคนหนึ่งเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบและยังไม่ได้รับการรักษา ยังมีการเจ็บอกอยู่ แต่ไปออกกำลังกายหนักๆ ก็จะทำให้ถึงขั้นหัวใจวายได้ เช่นเดียวกับโรคลิ้นหัวใจตีบ หากออกกำลังกายหนักเกินไป ก็มีโอกาสหมดสติได้เช่นกัน

ดังนั้น ถ้าเป็นโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกายจะดีที่สุด

ข้อมูลจาก รายการ “Health Line สายตรงสุขภาพ” รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 7.00-8.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 144 ธันวาคม 2555 โดย อภินันท์)



กำลังโหลดความคิดเห็น