xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน ‘โรคกระดูกพรุน’ ศัตรูของผู้สูงวัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรคกระดูกพรุนถือเป็นศัตรูตัวฉกาจอันดับต้นๆ ของคนสูงวัย บางคนอาจมองว่าไม่ใช่โรคร้ายแรง เช่นเดียวกับโรคหัวใจ หรือมะเร็ง แต่ถ้ารอให้สายเกินไป ก็อาจ “ตาย” หรือ “พิการ” ได้

พ.อ.รศ.นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ ประธานชมรมผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกพรุน ภายใต้มูลนิธิโรคกระดุกพรุนแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงอาการของโรคชนิดนี้ไว้ว่า ได้แก่ การที่กระดูกของคนเรามีความผิดปกติ แล้วทำให้มวลกระดูกและความแข็งแรงของกระดูกลดน้อยถอยลง โดยมีลักษณะประการหนึ่ง ก็คือ จะทำให้กระดูกหักง่ายขึ้น แม้แรงกระทำเบาๆ จากชีวิตประจำวันก็สามารถทำให้กระดูกหักได้

“โรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่เป็นในผู้สูงวัย อาการที่เห็นได้ทั่วไป เช่น การล้มจากยืน โดยปกติ สำหรับคนที่ยังอายุไม่มาก ถ้าล้มจากยืน จะไม่ค่อยเป็นอะไร แต่สำหรับผู้สูงวัย ถ้าล้มจากยืน ก็อาจจะมีกระดูกสะโพกหัก กระดูกสันหลังหัก หรืออาจจะเป็นกระดูกชิ้นอื่นก็ได้ หรือถ้ายกของหนักๆ ก็อาจจะทำให้กระดูกสันหลังหักได้”

สาเหตุของโรคกระดูกพรุนนั้น มีหลายสาเหตุปัจจัย แต่ที่พบเห็นได้มาก จะเกิดกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เพราะเมื่อหมดประจำเดือน ฮอร์โมนในเพศหญิงที่ชื่อเอสโตรเจน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษากระดูกไม่ให้เกิดการสลายตัว ลดน้อยลงหรือหายไป กระดูกก็จะเริ่มสลายตัว ด้วยเหตุนั้น จึงส่งผลให้ผู้หญิงเป็นโรคกระดูกพรุนได้ง่ายกว่าผู้ชาย คือ ช่วงอายุราวๆ 60-65 ปี ส่วนผู้ชาย ถ้าจะเป็น ส่วนใหญ่อยู่ในวัย 70 ปีขึ้นไป

พล.ต.ต.นพ.ธนา ธุระเจน กรรมการมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ในการก่อให้เกิดโรคชนิดนี้ ว่า การดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม อาหารเค็มจัด ก็มีผลเช่นกัน หากรับประทานมากเกินไป

“อีกอย่างหนึ่ง คือ การได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ แคลเซียมเป็นธาตุประกอบหลักของกระดูก ฉะนั้น ถ้าแคลเซียมน้อย ก็จะทำให้กระดูกสลายตัวได้ หรือถ้าเราทานแคลเซียมน้อยเกินไป ร่างกายส่วนอื่นที่ต้องการแคลเซียมก็จะไปดึงแคลเซียมจากกระดูกออกมา ก็ยิ่งเร่งอัตราการสลายตัวของกระดูก”

นพ.ธนา เปรียบเทียบว่า กระดูกพรุนเหมือนเรือบินตก ถ้าไม่ตกก็ไม่หัก โรคกระดูกพรุนก็เช่นกัน ถ้าไม่ล้มก็ไม่หัก และที่สำคัญ โรคกระดูกพรุนไม่ใช่โรคร้ายแรงนัก หากเทียบกับโรคอื่น อีกทั้งยังมีวิธีการป้องกันได้ เพราะระยะเวลาของกระดูกจะพรุนก่อนจะไปถึงขั้นกระดูกหัก ก็ยังเป็นสิ่งที่ยังรักษาได้ อย่างไรก็ตาม หากปล่อยให้ถึงขั้นกระดูกหักแล้วไม่รักษา ก็อาจจะก่อให้เกิดการพิการหรือเสียชีวิตได้เช่นกัน

นอกจากการรับประทานแคลเซียม หรืออาหารเสริมจำพวกวิตามินดีให้ได้ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน นายแพทย์แห่งมูลนิธิโรคกระดูกพรุน แนะนำว่า วิธีง่ายๆ ที่จะทำให้รอดพ้นจากโรคนี้ก็คือ ถ้าเป็นผู้หญิงถึงวัยหมดประจำเดือน หรืออายุ 60-65 ปี และผู้ชายวัย 70 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจ เพราะถ้าเป็น จะได้รักษาอย่างทันท่วงที

ขอบคุณข้อมูล : รายการ “Health Line สายตรงสุขภาพ” รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 07.00-08.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี
กำลังโหลดความคิดเห็น