“สุชาติ” ตีกลับ 4 รายชื่อแคนดิเดตประธานคุรุสภา ที่ “ศศิธารา” เคยเสนอให้ กก.สรรหาตรวจสอบอีกครั้ง ด้าน “พนิตา” รับเผือกร้อน หารือที่ประชุมตั้งทีมกฎหมายเช็กกระบวนการสรรหา หวั่นโดนฟ้อง พร้อมรอฟังคำวินิฉัยและยืนตามข้อเสนอแนะทีมกฎหมาย ระบุ ที่ประชุมเลือก “ชินภัทร” ทำหน้าที่ประธานสรรหาคนใหม่
นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการสรรหาประธานกรรมการคุรุสภา เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมเลือกนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาคนใหม่ส่วนกรรมการยังเป็นชุดเดิมทั้งหมด พร้อมกันนี้ได้หารือกรณีที่ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ ได้แทงเรื่องการเสนอรายชื่อผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งประธานกรรมการคุรุสภาที่ได้มีการเสนอผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมมาทั้งหมด 4 คน ซึ่งเสนอสมัยที่ น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ อดีตประธานคณะกรรมการ กลับมาให้คณะกรรมการพิจารณาดำเนินการสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้ถูกต้อง และให้เป็นไปตามรายงานการประชุมที่มีมาโดยตลอด ซึ่งเท่ากับว่า นายสุชาติ มองเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องในกระบวนการสรรหาที่ผ่านมา
ดังนั้น ที่ประชุม จึงได้นำรายงานการประชุมคณะกรรมการทั้งหมดกลับมาพิจารณาอีกครั้ง และได้เห็นประกาศการรับสมัคร ซึ่งลงนามโดย น.ส.ศศิธารา และผ่านมติของคณะกรรมการคุรุสภาชุดเดิม มี นายดิเรก พรสีมา เป็นประธาน มีข้อหนึ่งระบุว่า การแสดงวิสัยทัศน์จะเป็นส่วนสำคัญในการประกอบการพิจารณาหรือไม่ก็ได้ แต่ในขณะที่บันทึกรายงานการประชุม กลับระบุว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการให้คุรุสภา ทำหนังสือเชิญผู้สมัครทั้ง 11 คน มาแสดงวิสัยทัศน์ คนละ 20 นาที และให้มีการลงคะแนนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด ขณะเดียวกัน คณะกรรมการจะให้คะแนนหลังจากการแสดงวิสัยทัศน์เท่านั้น นั่นหมายความว่า คนที่ไม่มาแสดงวิสัยทัศน์จะไม่มีคะแนน ดังนั้น คณะกรรมการจะตรวจสอบรายละเอียดดูอีกครั้งว่าในทางปฏิบัติกรณีดังกล่าวจะต้องทำเช่นไร เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย
นางพนิตา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะหากคณะกรรมการประกาศเดินตามเดิมก็โดนฟ้อง ออกประกาศใหม่ก็โดนฟ้องอีก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาเครื่องมือป้องกัน จึงได้ตั้งคณะกรรมการกฎหมายโดยให้ผู้อำนวยการสำนักนิติการ ของ สป.เป็นประธาน และอีก 3 องค์หลัก คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ส่งผู้แทนมาเป็นกรรมการวินิจฉัย
“คณะกรรมการกฎหมายจะไปวินิจฉัยว่าสิ่งที่ปรากฏในรายงานการประชุม เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติตามหรือไม่ เพราะที่บอกว่าสิ่งที่พูดว่าแสดงวิสัยทัศน์ก็ได้ ไม่แสดงก็ได้ ไม่ได้ปรากฏในรายงานการประชุม และอ้างว่า อดีตประธานสรรหา ยังบอกว่า แค่มาดูหน้าตาดูบุคลิกเท่านั้น แต่ถ้ามาดูแค่นั้นทำไมอีก 6 คนที่มาไม่ผ่าน แล้วที่ไม่มากลับผ่านการคัดเลือก ทั้งนี้ ที่ประชุมยินดีจะทำตามคำวินิจฉัยของนักกฎหมายทั้งหมด ทั้งนี้ ทางแก้อีกทางหนึ่ง คือ รมว.ศึกษาธิการ อาจจะใช้อำนาจยกเลิกกระบวนการทั้งหมดแล้วเริ่มใหม่ เลือกคณะกรรมการสรรหาชุดใหม่ และกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ทั้งหมด ซึ่งหากทำเช่นนั้นก็มีสิทธิถูกฟ้องร้องจากผู้ที่เสียประโยชน์ได้” นางพนิตา กล่าวและว่า จะนัดประชุมเพื่อหาข้อสรุปในเรื่องนี้อีกครั้งวันที่ 29 ตุลาคม 2555 และหากได้ข้อสรุปและสามารถเสนอรายชื่อผู้เหมาะสมให้ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาได้ ก็จะทันเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 30 ตุลาคม เพื่อให้ประธานกรรมการคุรุสภาคนใหม่ จะสามารถทำงานได้ทันในวันที่ 1 พฤศจิกายน” นางพนิตา กล่าว
ถามว่า เท่าที่อ่านรายงานการประชุมมา มีลักษณะของการบล็อกโหวตหรือไม่ นางพนิตา กล่าวว่า ไม่มีลักษณะของการบล็อกโหวต แต่การกระทำออกไม่ตรงกับสิ่งที่ได้คุยไว้ในรายงานการประชุม ที่บอกว่าต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ แต่ว่าพอถึงเวลากลับมีรายชื่อผู้ที่ไม่แสดงวิสัยทัศน์ ผ่านการคัดเลือก 3 คน และมีคนที่มาแสดงวิสัยทัศน์ 1 คนให้ รมว.ศึกษาธิการ เลือกซึ่งจะตัดสินก็เกรงใจ และตนก็เห็นใจ ศ.ดร.สุชาติ เหมือนเป็นการบีบให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เลือกคนที่มาแสดงวิสัยทัศน์เพียงคนเดียว เพราะถ้าไปเลือกอีก 3 คนที่ถูกเสนอชื่อ แต่ไม่ได้มาแสดงวิสัยทัศน์ อีก 6 คนที่มาแสดงวิสัยทัศน์ก็จะต้องฟ้อง ทั้งนี้ มีผู้มาสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นประธานกรรมการคุรุสภาทั้งหมด 11 คน มาแสดงวิสัยทัศน์ 7 คน แต่คนที่ไม่มาแสดงวิสัยทัศน์ 4 คน แต่ผู้ที่ไม่มาแสดงวิสัยทัศน์กลับได้รับการเสนอชื่อ เข้ามา 3 คน ซึ่งจะเป็นการล็อกโหวตหรือไม่ ตนไม่รู้ แต่ในที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาที่มีการเสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม ให้ รมว.ศึกษาธิการ เลือก ก็ไม่มีใครคัดค้าน