“อนุสรณ์” ฝากขอบคุณ “กิตติรัตน์” ให้กำลังใจ-หนุนทำงานครบ 2 วาระ 8 ปี ถึงสิ้น ธ.ค.นี้ ลุ้นผลประชุม คกก.สรรหาฯ วันนี้ ต่ออายุการจ้างงานอีก 2 ปีหรือไม่ “เจ้าตัว” ลั่นเดินหน้าแผนกลั่นเต็มกำลังผลิต 1.1-1.2 แสนบาร์เรล/วัน หลังซ่อมแซมหอกลั่นที่ถูกไฟไหม้ กลางเดือน ต.ค.นี้เตรียมดึงโรงกลั่น “ญี่ปุ่น” ช่วยเสริมความปลอดภัยการผลิต
นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาสนับสนุนให้อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ 8 ปีในสิ้นเดือนธันวาคม 2555 นี้ โดยแสดงความขอบคุณทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ให้กำลังใจในการทำงาน
โดยที่ผ่านมาตนได้ทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งจะครบ 2 วาระ โดยคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ในคณะกรรมการบางจากฯ ชุดที่แล้ว ได้มีมติเสนอให้ดำรงตำแหน่งต่ออีก 2 ปี หรือจนกว่าจะเกษียณ โดยบางจากฯ ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ
ดังนั้น ข้อกำหนดจึงไม่เหมือนกับภาครัฐที่ให้ดำรงตำแหน่งได้ 2 วาระเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการชุดปัจจุบันจะมีมติอย่างไร หากเห็นว่าตนจะทำประโยชน์ต่อบางจากที่ทำงานมานานถึง 27 ปีได้ต่อไป และให้อยู่ทำงานต่อก็พร้อมทำงานต่อ แต่หากมีมติไม่ต่อวาระก็ไม่เป็นไร ก็คงจะต้องไปทำงานอย่างอื่น
ส่วนแผนการก่อสร้างหอกลั่นน้ำมันแยกเคโรซีน ในหน่วยกลั่นที่ 3 ที่ถูกไฟไหม้เมื่อเร็วๆ นี้ นายอนุสรณ์ยืนยันว่าจะเสร็จสิ้นตามแผนในกลางเดือนตุลาคม 2555 หลังจากนั้นจะเดินหน้าผลิตเต็มกำลังกลั่น 110,000-120,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อเพิ่มกำลังกลั่นชดเชยการกลั่นฯ ของหน่วย 3 ที่หยุดนาน 3 เดือน
ทั้งนี้ จะส่งผลให้กำลังกลั่นเฉลี่ยของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 80,000 บาร์เรลต่อวัน โดยในขณะนี้ บางจากได้เดินเครื่องกลั่นหน่วย 2 และ 4 กำลังกลั่นรวม 45,000 บาร์เรลต่อวัน และมีการนำเข้า รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ และกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการร่วมกันดูแลน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดปัญหาในช่วงซ่อมแซมโรงกลั่นฯ จึงไม่มีปัญหาน้ำมันขาดแคลนแต่อย่างใด
สำหรับค่าสร้างหอกลั่นเคโรซีนดังกล่าว ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 200-300 ล้านบาท สูงกว่าที่ประมาณการเดิมที่ 100 ล้านบาท เนื่องจากได้มีการปรับเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าในโรงกลั่นฯ ควบคู่ไปด้วยเพื่อป้องกันอุบัติภัย โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นคาดว่าจะเป็นไปตามคาดการณ์เดิมที่ประมาณ 500 ล้านบาทเพราะส่วนใหญ่อยู่ในวงเงินประกันภัย
ทั้งนี้ ผู้ที่เข้ามาก่อสร้างซ่อมแซมหอกลั่น คือ โตโยไทย เพื่อดูเรื่องความปลอดภัยการเดินเครื่องโรงกลั่นฯ ให้ดีมากยิ่งขึ้น แม้ปัจจุบันจะดูแลความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลแล้วก็ตาม ซึ่งทางบางจากจะเชิญโรงกลั่นของญี่ปุ่นมาช่วยให้คำปรึกษาร่วมดูแลเรื่องการเดินเครื่องโรงกลั่นฯ เพื่อเสริมความปลอดภัยให้มากขึ้น