กทม.เตรียมเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีลมช่วงตากสิน-เพชรเกษม อีก 2 สถานี ที่สถานีโพธินิมิตร และตลาดพลู ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค.2555 - พ.ค. 2556
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. และนางนินนาท ชลิตานนท์ รองปลัด กทม.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนต่อขยายสายสีลมช่วงตากสิน-เพชรเกษม ที่บริเวณสถานีโพธินิมิตร (S9) โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวภายหลังว่า ปัจจุบันงานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมสถานีโพธินิมิตร อยู่ที่ร้อยละ 75 ส่วนที่สถานีตลาดพลู (S10) โครงสร้างและสถาปัตยกรรมร้อยละ 71 ทั้งนี้ คาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการประชาชนในฝั่งธนบุรี ทดลองฟรี ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค.-พ.ค.2556 อย่างไรก็ตาม หากเปิดให้บริการใน 2 สถานีดังกล่าว จะมีประชาชนเพิ่มขึ้นอีกหลักหมื่นต่อวันต่อเที่ยวคน เพราะการก่อสร้างในส่วนต่อขยายสถานีกรุงธนบุรี และสถานีวงเวียนใหญ่ มีประชาชนใช้บริการ 70,000 คนต่อเที่ยววัน สำหรับอัตราค่าโดยสารนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณา แต่จะกำหนดให้อัตราค่าโดยสารถูกลงอย่างแน่นอน ส่วนสถานีอีก 2 สถานีที่เหลือ คือ สถานีวุฒากาศ (S11) และสถานีบางหว้า (S12) จะก่อสร้างแล้วเสร็จและทันให้บริการในวันที่ 12 ส.ค.2556
ด้านนายธีระชน กล่าวว่า ขณะนี้ติดปัญหาที่สถานีบางหว้า เนื่องจากสถานีดังกล่าวเป็นจุดเดียวกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สายสีน้ำเงิน ซึ่ง รฟม.ต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จก่อน กทม.จึงจะสามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ เนื่องจากเป็นไปตามเงื่อนไขความปลอดภัยของวิศวกรอิสระ TCE เพราะสถานีบางหว้าอยู่ด้านล่างของโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน อย่างไรก็ตาม กทม.จะประสานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งรัดให้ดำเนินการแล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะสถานีบางหว้าอยู่ด้านล่างของโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน อย่างไรก็ตาม กทม.จะประสาน รฟม.เร่งรัดให้ดำเนินการแล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ เชื่อว่า ก่อนหน้านี้ มีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานของ รฟม.แต่เมื่อลงพื้นที่จริง พบว่า ระดับปฏิบัติงานไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ดังนั้น กทม.จะใช้วิธีประสานงานกับ รฟม. อย่างต่อเนื่องต่อไป
ส่วนกรณีที่มีผู้พิการมาร้องให้มีการก่อสร้างลิฟท์ในทุกสถานีนั้น นายธีระชน กล่าวว่า ในส่วนของสถานีใหม่ที่มีการก่อสร้าง กทม.ได้มีการออกแบบให้มีลิฟต์ สำหรับคนพิการอยู่แล้ว แต่สถานีอื่นๆ อีก 54 ตัว จะเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2556 นอกจากนี้ กทม. มีแนวคิดสร้างทางยกระดับ บริเวณถนนพระราม 3 ซึ่ง กทม.มีรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) โดยจะทำระบบขนส่งรถรางโมโนเรล-ไลท์เรล บริเวณช่องนนทรี เพื่อคืนช่องทางจราจรให้กับประชาชนด้วย
นายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม (เคที) กล่าวว่า การเปิดให้บริการใน 2 สถานี ที่จะเริ่มในวันที่ 5 ธ.ค.นี้นั้น เคทีได้มีการจัดเตรียมขบวนรถ จำนวน 2 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ เพื่อรองรับประชาชนในการเดินทาง โดยจะรับจากสถานีวงเวียนใหญ่ มาอีก 2 สถานี ทั้งนี้สาเหตุที่ประชาชนไม่สามารถเดินทางในขบวนรถเดิมได้ เพราะต้องเปลี่ยนขบวนรถ เนื่องจากในส่วนของ 2 สถานี สามารถใช้รางรถไฟได้เพียงรางเดียวเท่านั้น ส่วนอีกรางใช้สำหรับการก่อสร้างอีก 2 สถานีที่เหลือ ซึ่งประชาชนอาจจะต้องใช้เวลาในการเดินทางมากขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตามหากก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด จึงจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ