นักวิชาการ ชี้ จำเป็นต้องขึ้นภาษีเหล้า เป็นเครื่องมือคุมที่ดีที่สุด แต่พบรัฐยังขึ้นในอัตราน้อยมาก หลังไม่ขึ้นกว่า 3 ปี แนะต้องปรับโครงสร้างภาษี
นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า ขอชื่นชมรัฐบาลที่ตัดสินใจในการขึ้นภาษี ซึ่งมาตรการทางภาษี ถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุด ในการจัดการกับปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจากการสำรวจภาระโรค พบว่า เมื่อเปรียบเทียบรายได้ที่เก็บได้จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1 บาท สังคมจะต้องจ่ายค่าเสียหายที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น อุบัติเหตุ โรคเรื้อรัง การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จำนวน 2 บาท ซึ่งถือว่ารัฐต้องรับภาระมากกว่ารายได้ที่เก็บได้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมไม่ให้ราคาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำเกินไป ทั้งนี้ จากการสำรวจล่าสุดปี 2549 พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุหลัก อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
“การขึ้นภาษีในครั้งนี้ ถือว่าเป็นอัตราต่ำ เพราะปัจจุบันเพดานภาษีของไทยเกือบเต็มอัตราแล้ว ทำให้เมื่อคิดเฉลี่ย พบว่า ราคาขายปลีกเหล้าขาวจะขึ้นอีก 7.50 บาท เหล้าสีขึ้น 12 บาท และ บรั่นดี ขึ้น 5.40 บาท โดยไทยไม่มีการปรับภาษีมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งการแก้ปัญหาที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยมาตรการภาษี จะสามารถทำได้ โดยการแก้ พ.ร.บ.สุรา 2493 เพื่อปรับโครงสร้างภาษีให้มีความเหมาะสมกับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย กับต่างประเทศเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ โดยองค์การอนามัยโลก พบว่า ราคาเบียร์ไทยถูกกว่าตลาดโลก 2 เท่า ส่วนเหล้าถูกกว่าประมาณร้อยละ 40 ” นพ.ทักษพล กล่าว