xs
xsm
sm
md
lg

รัฐถังแตก ไฟเขียวรีดภาษี เหล้า-บุหรี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.ไฟเขียวขึ้นภาษีเหล้า - บุหรี่ มีผลทันทีวันนี้ สรรพสามิตระบุปรับขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้รัฐและลดการบริโภค ชี้บุหรี่นอกขึ้นซองละ 10 บาท บุหรี่ไทยซองละ 3-5 บาท ขณะที่เหล้าขาวเจอหนักกว่าเหล้าสีหลังไม่ได้ปรับมานานแล้ว นักวิชาการ ชี้ จำเป็นต้องขึ้นภาษีเหล้า เป็นเครื่องมือคุมที่ดีที่สุด แต่พบรัฐยังขึ้นในอัตราน้อยมากหลังไม่ขึ้นกว่า 3 ปี   แนะต้องปรับโครงสร้างภาษี

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบ โดยให้มีผลทันที ในส่วนของบุหรี่จะปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต 8 ยี่ห้อในอัตรา 6-8 บาท/ซอง ส่วนสุรา แบ่งเป็นสุราผสม ปรับภาษีสรรพสามิตเพิ่มเป็น 120 บาทต่อลิตร และสุราต่างประเทศ เพิ่มเป็น 400 บาทต่อลิตร ซึ่งการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตในครั้งนี้ยังถือว่าไม่ป็นเพดานที่ได้กำหนดไว้

ทั้งนี้กระทรวงการคลังให้เหตุผลในการปรับภาษีสุราและบุหรี่ในครั้งนี้ เพื่อทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันจะช่วยลดการบริโภคสุราและยาสูบ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน

ด้านนางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ถึงการปรับขึ้นอัตราภาษีสุราและยาสูบ อัตราภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. โดยสุราขาว เดิมจัดเก็บภาษีตามมูลค่าร้อยละ 50 หรือตามปริมาณ 120 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เพิ่มเป็น 150 บาทต่อลิตร ส่วนสุราผสมจัดเก็บภาษีตามมูลค่าร้อยละ 50 หรือตามปริมาณ 300 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ เพิ่มเป็น 350 บาท

ขณะที่สุราปรุงพิเศษ ปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีตามมูลค่าที่ปัจจุบันเก็บร้อยละ 48 เป็น 50 ให้เต็มเพดาน เพราะตามปริมาณจัดเก็บเต็มเพดาน 400 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์อยู่แล้ว ส่วนบุหรี่ปรับเพิ่มอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 85 เป็น 87 จากเพดานที่กำหนดไว้ 90 พร้อมจัดเก็บตามปริมาณมวนละ 1 บาทจากเดิมที่ไม่เคยจัดเก็บมาก่อน แม้ว่าจะมีเพดานที่กำหนดมวนละ 3 บาทก็ตาม

นางเบญจา กล่าวว่า การปรับขึ้นภาษีบาปครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของกรมสรรพสามิตที่ไม่สนับสนุนให้มีการบริโภคสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้น และยังเป็นการปรับอัตราการจัดเก็บให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นโดยเฉพาะภาษีบุหรี่ที่ก่อนหน้านี้มีการจัดเก็บเชิงมูลค่าอย่างเดียวทำให้มีภาษีราคาถูกจากต่างประเทศ เช่น จีนเข้ามามากขึ้นเพราะแจ้งราคานำเข้าต่ำมาก โดยต่อไปจะใช้ภาษีเชิงปริมาณควบคู่ไปด้วยหรือเก็บอัตราภาษีต่อมวนทำให้บุหรี่ไม่ว่าจะราคาถูกหรือแพงก็จะเสียภาษีในอัตราเดียวกันเพราะบุหรี่ราคาถูกก็ถือว่าทำลายสุขภาพเช่นเดียวกัน จากการปรับภาษีดังกล่าวจะทำให้มีรายได้เพิ่มเข้ามาอีกประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท

ส่วนของภาษีสุรานั้นเน้นปรับขึ้นในส่วนของเหล้าขาวมากกว่าเหล้าสีหรือบรั่นดี เพราะเหล้าขาวไม่ได้มีการปรับมานานและส่วนของเหล่าสีนั้นจัดเก็บเกือบเต็มเพดานแล้ว โดยส่วนของภาษีสุราที่ปรับขึ้นนั้นทำให้มีรายได้เพิ่มเข้ามาอีกประมาณปีละ 2-3 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่มากนักเพราะเหล้าขาวมีราคาถูก

"เหตุที่ยังไม่ปรับขึ้นภาษีเหล้าขาวเต็มเพดาน เพราะต้องคำนึงถึงผลกระทบของผู้มีรายได้น้อยด้วย รวมทั้งอาจมีผลให้เกิดการผลิตสุราเถื่อนมากขึ้นด้วย จึงมองว่าควรจะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อได้ปรับตัวด้วย โดยจากอัตราภาษีใหม่จะมีผลให้ราคาขายปลีกปรับขึ้นเพียงขวดละ 5-8 บาทหรือไม่เกิน 10 บาท ขึ้นอยู่กับดีกรีถือว่าไม่สูงมากนักและผู้บริโภคน่าจะรับได้" นางเบญจา กล่าว

นางเบญจากล่าวว่า ในส่วนของการปรับราคาขายปลีกบุหรี่นั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการต้องการจะรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้หรือไม่ เพราะหากปรับราคาสูงมากยอดขายก็ย่อมลดลงเป็นธรรมดา โดยในส่วนของบุหรี่นั้น หากเป็นยี่ห้อราคาแพงอย่างมาร์โบโรก็อาจจะปรับขึ้นประมาณซองละ 9-10 บาท ส่วนกรองทิพย์จะปรับขึ้นประมาณซองละ 5-6 บาท วันเดอร์ ปรับขึ้นประมาณซองละ 3 บาท เป็นต้น

***นักวิชาการแนะต้องปรับโครงสร้างภาษี

นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า ขอชื่นชมรัฐบาล ที่ตัดสินใจในการขึ้นภาษี ซึ่งมาตรการทางภาษี ถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุด ในการจัดการกับปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ซึ่งจากการสำรวจภาระโรค พบว่า เมื่อเปรียบเทียบรายได้ที่เก็บได้จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1 บาท สังคมจะต้องจ่ายค่าเสียหายที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น อุบัติเหตุ โรคเรื้อรัง การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จำนวน 2 บาท ซึ่งถือว่า รัฐต้องรับภาระมากกว่ารายได้ที่เก็บได้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมไม่ให้ราคาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำเกินไป ทั้งนี้ จากกสำรวจล่าสุดปี 2549 พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหลัก อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น