xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ซุป” เตือนรัฐบาล “ปู” ใช้ประชานิยมสุดโต่ง ระวังชาติล่มจมเหมือนกรีซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ดร.ศุภชัย” เตือนสติรัฐบาล “ปู” ใช้ประชานิยมสุดโต่งระวังประเทศจะล่มจมเหมือนกรีซ สอนมวยอย่าแทรกแซงแบงก์ชาติ ควรปล่อยให้ทำงานเป็นอิสระ ชี้เศรษฐกิจโลกปีหน้ายังน่าห่วง ไทยต้องระวัง และเตรียมพร้อมหันบุก AEC

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลนิยมใช้นโยบายประชานิยมในการบริหารประเทศอยากให้ดูรายรับของประเทศด้วย เพราะหากมีการใช้นโยบายประชานิยมมากขึ้นจะทำให้รายรับของประเทศห่างจากรายจ่ายมากขึ้น และแม้ตอนนี้จะยังไม่เกิดปัญหา แต่อนาคตหากเกิดการสะสมไปเรื่อยๆ อาจทำให้ไทยเกิดปัญหาเหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศกรีซได้ จึงจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีบางตัว เช่น การเก็บภาษีทรัพย์สินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย

ส่วนนโยบายจำนำข้าว รัฐบาลก็ต้องทำอย่างระมัดระวังเพราะเป็นการเอาเงินภาษีส่วนรวมของประชาชนมาใช้ ทางที่ดีรัฐบาลควรจะหันมาดูแลในเรื่องของโครงสร้างการผลิตแทนด้านราคาดีกว่า เพราะไทยไม่สามารถเป็นผู้กำหนดราคาข้าวในตลาดโลกได้

สำหรับกรณีที่การเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นว่าควรปล่อยให้ ธปท.ทำงานโดยอิสระ ให้เกิดความเป็นเอกเทศ เพราะธปท.เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ใช่หน้าที่ของการเมืองที่จะเข้ามาแทรกแซง เนื่องจาก ธปท.จะต้องดูนโยบายทางเงินเฟ้อให้สมดุลกับอัตราแลกเปลี่ยน

ส่วนการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ นิว ชาลเลนจ์ ฟอร์ ไทยแลนด์ อิน เดอะ นิว อีรา ออฟ โกลบอล แอนด์ อินเวสต์เมนต์ นายศุภชัยกล่าวว่า วิกฤตหนี้ในสหภาพยุโรปที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จะกดดันให้เศรษฐกิจโลกปีนี้ชะลอตัวเหลือเพียง 2.5% เท่านั้น เพราะปริมาณการค้าของโลกปีนี้อาจลดต่ำกว่า 4% จากปีก่อนที่โต 5% ขณะที่เศรษฐกิจปีหน้าอาจแย่กว่าเดิมหรือเติบโตไม่ถึง 2.5% ด้วยซ้ำ เนื่องจากการลงทุนของโลกยังไม่ฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ เห็นได้ชัดจากระบบการเงินของสหรัฐฯ ที่ยังมีโครงสร้างอ่อนแอมากจากปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน ส่วนเศรษฐกิจในยูโรโซนอาจล่มสลายได้ถ้ายังไม่มีการปฏิรูปปัญหาหนี้สินในกรีซอย่างจริงจัง เพราะขณะนี้เงินของไอเอ็มเอฟไม่เหลือแล้ว โดยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจในยูโรจะติดลบ 0.7% และปีหน้าคาดว่าจะติดลบเพิ่มเป็น 1-1.3%

“ทิศทางเศรษฐกิจโลกปีหน้าขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปได้มากน้อยแค่ไหน โดยต้องฝากความหวังให้เยอรมนีลงมาช่วย ขณะที่เศรษฐกิจในสหรัฐฯ ก็มีปัญหา เพราะในปี 2556 มีการตัดงบประมาณ มีการขึ้นภาษี และที่สำคัญยังมีการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อภาคการค้าโดยรวมของโลกให้ชะลอตัวลง ดังนั้น กลุ่มประเทศเอเชียจึงไม่ควรประมาท และดูยุโรปเป็นตัวอย่าง เพราะขนาดสถาบันการเงินใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ และยุโรปยังล่มได้ หากเอเชียประมาทก็อาจล่มสลายได้เหมือนกัน”

นายศุภชัยกล่าวว่า เครื่องมือที่ทำให้เศรษฐกิจในเอเชียเติบโตได้มีเสถียรภาพ จะต้องเร่งรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ให้สำเร็จ โดยเฉพาะการปรับกฎหมายการแข่งขันอาเซียนให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการค้าระหว่างกัน ขณะเดียวกันเห็นว่าประเทศในเอเชียควรนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่สูงหันไปซื้อสินทรัพย์หรือเทคโนโลยีจากยุโรปในช่วงนี้ เพราะขณะนี้ชาติเอเชียมีเงินเหลือจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่รวมกันสูงถึง 60% ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของโลก โดยเฉพาะจีนที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 3.4-3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ ประเทศไทยควรส่งเสริมให้ใช้สิทธิประโยชน์จากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ให้มากขึ้น แต่ในส่วนของการทำข้อตกลงหุ้นส่วนความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) กับสหรัฐฯ อยากเตือนว่า ต้องคิดให้ดีและต้องรอบคอบว่าสิ่งที่จะแลกกันนั้นเราสามารถยอมรับได้หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องที่ไทยยังไม่สามารถแข่งขันได้ เช่น เรื่องสิทธิบัตรยา ที่ทำให้เกิดการใช้ยาราคาแพง แต่อาจได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) คืนมา รัฐบาลต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าคุ้มค่าที่จะยอมแลกกันหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น