xs
xsm
sm
md
lg

เล็งหารือ ร.ร.ปรับจำนวนคาบเรียนต่อวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ด กพฐ.ไฟเขียวทบทวนจำนวนคาบเรียนต่อวัน “ชินภัทร” ย้ำยังไม่มีข้อสรุปจะปรับหรือลด ต้องหารือกับ ร.ร.พร้อมนำข้อเสนอแนะ 5 ทิศทางจัดการศึกษาในอนาคตไปจัดทำแผนยุทธศาสตร์ก่อนนำเสนอ กพฐ.อีกครั้งหนึ่ง
ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ กพฐ. (แฟ้มภาพ)
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มี นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในอนาคต พร้อมทั้งทบทวนด้วยว่าการจัดการศึกษาตามแนวทางปฏิรูปการศึกษานั้น ยังมีจุดอ่อนใดบ้าง โดยที่ประชุมได้ข้อสรุป 5 องค์ประกอบ ดังนี้ 1.ความคาดหวังตัวผู้เรียน ที่ประชุมเห็นว่ายังต้องเน้นเรื่องความดีและความเก่ง โดยนักเรียนต้องมีสติปัญญาและพัฒนาการต่างๆ ควบคู่กันไป อีกทั้งการจัดการศึกษาควรจะย้อนกลับไปสู่หลักการพื้นฐานการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนในเรื่องการเรียนรู้เพื่อรู้ การเรียนรู้เพื่อนำไปปฏิบัติ การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน และการเรียนรู้ที่จะเป็น 2.หลักสูตรการเรียนการสอน ต้องจัดให้สอดคล้องกับวัยของผู้เรียน การจัดการศึกษาในระดับต้นๆ ผู้เรียนต้องรู้เรื่องของภาษา การคิดคำนวณ และในระดับที่สูงขึ้นไปต้องเตรียมพร้อมเข้าสู่ระดับสากล ขณะเดียวกัน ต้องมาทบทวนด้วยว่าจำนวนคาบเรียนต่อวันมากเกินไปหรือไม่ และควรจัดสรรการเรียนภาคปฏิบัติให้เพียงพอ ไม่เช่นนั้นนักเรียนจะไม่สามารถประยุกต์ความรู้สู่ชีวิตจริงๆ ได้ โดยเฉพาะการนำความรู้ไปสู่การแก้ปัญหา

3.ครู ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาผู้เรียนแม้จะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสอน แต่ไม่ได้ทำให้ความสำคัญของครูลดน้อยลงไป ดังนั้น ต้องส่งเสริมให้ครูได้เรียนจากเพื่อนครู เพราะเป็นวิธีการที่ก่อให้เกิดประโยชน์มาก และควรนำผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนมาเชื่อมโยงด้วยเพื่อจำแนกครูที่สอน และประสบความสำเร็จให้เป็นต้นแบบแก่ครูที่ยังมีปัญหา และระบบการให้ความดีความชอบ การเลื่อนวิทยฐานะต้องสอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน อีกทั้งต้องมีมาตรการที่จะให้ครูที่สอนแล้วผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนไม่ดีได้มีความรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวด้วย 4.สถานศึกษา ที่ประชุมเห็นด้วยกับการจำแนกสถานศึกษาตามศักยภาพความพร้อมและบริบทต่างๆ เช่น โรงเรียนมาตรฐานสากล ฯลฯ แต่ควรจะมีการบริหารจัดการที่หลากหลายให้อิสระและความคล่องตัวแก่โรงเรียนที่มีศักยภาพสูงและต้องแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กให้เป็นรูปธรรม และ5.การบริหารจัดการ จะทำอย่างไรเพื่อลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อให้ได้รับโอกาสและประโยชน์จากการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งในการบริหารจัดการควรเชื่อมโยงกับการจัดการศึกษากับหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่ใช่การจัดการศึกษาแบบแยกส่วน

เรื่องจำนวนคาบและชั่วโมงเรียนของนักเรียนไทยยังไม่มีข้อสรุปว่าจะปรับหรือลด เพียงแต่ สพฐ.ต้องนำไปทบทวน ซึ่งก็อาจเป็นไปได้สองแนวทางว่าอาจจะลดคาบเรียนลงมาให้น้อยกว่า 7 ชั่วโมงที่เรียนกันอยู่ในปัจจุบัน หรืออาจจะคงจำนวนคาบเรียนเหมือนเดิมในปัจจุบัน แต่อาจจะเพิ่มการเรียนด้านกิจกรรม ภาคปฏิบัติมากขึ้นในภาคบ่ายไม่ใช่เน้นการเรียนด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกัน มีความเห็นจากผู้แทนสาธารณสุขด้วยว่าโรงเรียนของไทยนั้นหยุดบ่อย และเมื่อเฉพาะเกิดโรคติดต่อก็จะใช้วิธีการหยุดเรียนแต่เมื่อเปิดมาแล้วก็ยังไม่สามารถป้องกันภาวะการแพร่ระบาดได้ดี ดังนั้น เสนอว่าควรจะมีการสังเกต และแก้ปัญหาด้วยการแยกเด็กที่ป่วยออกและสอนวิธีการดูแลรักษา การป้องกันที่ถูกต้องเพื่อที่จะได้ไม่ต้องหยุดการเรียนการสอน” นายชินภัทร กล่าวและว่า ทั้งหมดนี้ สพฐ.ต้องไปสอบถามความเป็นไปได้จากโรงเรียนด้วยเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง ขณะเดียวกัน จะนำข้อเสนอและข้อคิดเห็นของบอร์ด กพฐ.ไปจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ในภาคปฏิบัติและนำเสนอที่ประชุม กพฐ.อีกครั้งหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น