xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการ แนะ สพฐ.เพิ่มเติมเนื้อหากระตุ้น ความคิดสร้างสรรค์ลงในแท็บเล็ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นักวิชาการ แนะ สพฐ.เพิ่มเติมเนื้อหาที่เพิ่มกระบวนการคิดสร้างสรรค์ลงในแท็บเล็ต ด้าน อดีต ผอ.สาธิตจุฬาฯ ระบุ ผู้บริหารและครูต้องรู้จักการใช้แท็บเล็ตและบริหารจัดการให้เหมาะสมกับบริบทของตน

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่โรงแรมตรัง กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ “แท็บเล็ตทำไมต้อง ป.1” มี นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานและร่วมในการเสวนา พร้อมด้วย นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายกสมาคมจิตแพทย์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์ ฝ่ายประถม และ นายณัฐภัทร อิทธิรัตนสุนทร กรรมการผู้จัดการบริษัท เอเชียมีเดียซอฟท์ จำกัด ร่วมเสวนา โดยมีผู้บริหารโรงเรียนที่ได้รับแท็บเล็ต ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.กทม.) เข้าร่วมกว่า 100 คน

โดย นายชินภัทร กล่าวว่า การดำเนินการนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ผู้บริหารเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความสำเร็จ และที่ผ่านมา นโยบายของรัฐบาลในเรื่องของการแจกแท็บเล็ต สำหรับเด็ก ป.1 เป็นที่สนใจของสังคม เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งเป็นปกติที่มีการถกเถียงทั้งสนับสนุนและคัดค้าน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และลดแนวทางที่จะทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าว เป็นความตั้งใจที่จะทำให้การปฎิรูปการศึกษามีความก้าวหน้า และเป็นประโยชน์มากขึ้น ทั้งนี้ การปฏิรูปการศึกษา 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ยังมีหลายสิ่งที่ดำเนินการไม่ได้ผลอย่างเต็มที่ แม้เราจะส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ แต่เราก็ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จในเรื่องการส่งเสริมการคิด วิเคราะห์ สิ่งเหล่านี้ถ้าใช้สื่อหนังสือเรียนเพียงอย่างเดียว จะทำให้การเรียนรู้มีข้อจำกัด ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการมุ่งส่งเสริมให้เด็กได้มีจินตนาการและมีอิสระในการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือ เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นต้องเริ่มแต่รากฐาน นั่นก็คือ ระดับประถม โดยเฉพาะในเด็ก ป.1-3 เป็นช่วงวัยที่เด็กมีความพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาการต่อยอดได้ ถ้าเราเริ่มต้นให้เด็กรู้จักช่างคิดค้น ตั้งคำถาม จะเป็นรากฐานในการเติบโตเป็นบุคคลที่มีการเรียนรู้นี่จึงเป็นเหตุผลที่เลือกแจกแท็บเล็ตแก่เด็ก ป.1

“การเรียนรู้ใช้วิธีการเน้นเนื้อหาสาระให้เด็กเปิดดู อ่านแล้วจำ เป็นการคิดแบบล็อกจินตนาการ แต่ถ้าเปิดใจให้กว้างแล้วนำเแท็บเล็ตมาใช้เพื่อการเรียนรู้ให้กว้างขึ้น เป็นการเปิดมิติใหม่ของการเรียนรู้ เพราะเดิมที่เด็กต้องเดินไปตามลำดับที่ครูกำหนด แต่การนำแท็บเล็ตมาใช้ จะช่วยให้เด็กสามารถใช้ในการตั้งโจทย์ หรือครูตั้งโจทย์ เพื่อให้เด็กไปศึกษาหาความรู้ จะกลายเป็นอาวุธประจำกายในการเรียนรู้ เด็กทุกคนสามารถสืบค้นความรู้ มาสรุปและนำเสนอ เป็นการฝึกให้เด็ฏไทยกล้าคิด กล้าสรุปความรู้ และนำเสนออย่างมีประสิทธิ์ภาพ"เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของระยะเวลาการใช้แท็บเล็ตที่เหมาะสมของนักเรียนนั้น ได้มีตัวอย่างการใช้แท็บเล็ตในการเรียนของเด็กประถมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นั้นจะใช้แท็บเล็ตไม่เกิน 20% ของเวลาเรียนทั้งหมด ประมาณ 2-3 คาบต่อสัปดาห์เฉลี่ยอยู่ที่คาบละ 15 นาที
ด้าน นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ในแง่จิตวิทยาการใช้แท็บเล็ตกับเด็ก ป.1 นั้นสามารถทำได้ เพราะมองว่าเป็นประโยชน์ที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา เพราะเด็กประถมอยู่ในวัยที่จะเริ่มเรียนรู้คำ การเขียน ส่งเสริมรักการอ่าน ความเข้าใจง่ายๆ ในเรื่องการคิดคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ซึ่งหากวางพื้นฐานระดับประถมให้ดีก็จะต่อยอดระดับชั้นต่อๆ ไปได้ดี ขณะเดียวกันการนำแท็บเล็ตมาใช้ควรจะต้องมีกระบวนการอื่นๆ มาช่วยส่งเสริมให้การใช้งานแท็บเล็ตเหมาะสมมีประสิทธิภาพ 3 ด้าน ได้แก่ 1.การอธิบายสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพและเสียงจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก 2.ครูจะต้องเป็นหลักในการใช้แท็บเล็ต คือ ไม่ปล่อยให้เด็กไปเรียนรู้แท็บเล็ตโดยลำพัง และควรใช้ในห้องเรียนมากกว่าใช้เอง และ 3.ครูต้องใช้เป็นสื่อการสอน เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กทำการบ้านได้อย่างสนุกมากขึ้น

“ในอีก 3 ปีข้างหน้า เครื่องแท็บเล็ตจะมีราคาถูกลงมาก ทุกครอบครัวสามารถมีใช้ได้ ดังนั้น การนำแท็บเล็ตมาใช้กับ ป.1 จึงถือเป็นการเตรียมพร้อมของพ่อแม่ในอนาคตด้วย เพราะหากไม่มีการเตรียมตั้งแต่ตอนนี้ เมื่อถึงเวลานั้นก็ม่าสามารถควบคุมอะไรได้ก็อาจจะกลายเป็นวิกฤติปัญหาที่แก้ไขได้ยาก อย่างไรก็ตาม สำหรับเนื้อหาที่บรรจุอยู่ในแท็บเล็ตนั้นผมมองว่าเหมาะสมดีแล้ว แต่อยากเสนอแนะว่าควรจะเพิ่มเติมเนื้อหาที่ช่วยส่งเสริมการระบบการคิดสร้างสรรค์เข้าไปด้วย เพราะจะได้เติมเต็มกระบวนการคิดของเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นพ.ยงยุทธ กล่าว

ขณะที่ รศ.ลัดดา กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร ครู จะต้องเตรียมตัวที่จะพานักเรียนให้สามารถใช้แท็บเล็ตให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร และต้องยอมรับว่าหนีไม่พ้นยุคเทคโนโลยี ดังนั้น การใช้แท็บเล็ตกับเด็ก ป.1 ขึ้นอยู่กับบริหารและครู ความแตกต่างระหว่างในเมืองกับชนบท ผู้บริหารต้องมีการจัดการ ครูต้องใช้แท็บเล็ตให้ถูกต้อง ถ้าครูสามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับบริบทของเราในเด็กแต่ละท้องถิ่นจะช่วยได้ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น