xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัยชี้ คุณภาพครูส่งผลต่อการพัฒนาเด็กมากกว่าเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยงานวิจัยระบบโรงเรียนที่ดีที่สุดทั่วโลก 20 ระบบ ชี้ชัดเงินไม่มีผลต่อการพัฒนาเด็ก แต่คุณภาพครูสำคัญที่สุด ขณะที่นักวิชาการ แนะปฏิรูปการศึกษา ต้องรณรงค์ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม มีแผนนโยบายชัดเจน ไม่ขึ้นต่อการเปลี่ยน รมว.ศึกษาธิการ

วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่โรงแรมเอส.ดี.อเวนิว สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมสัมมนาเรื่อง “ระบบโรงเรียนที่ดีที่สุดในโลกที่จะทำให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร” (How the world’s most improved school systems keep getting beeter) ซึ่งเป็นงานวิจัยของ McKinsey & Company โดยทาง สกศ.ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ดร.สิริพร บุญญานันต์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา อดีตรองเลขาธิการ สกศ.และ รศ.ดร.ฉลอง บุญญานันท์ แปลและเรียบเรียงรายงานเป็นภาษาไทย

นายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมว่า 10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการปฏิรูปการศึกษา แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษายังไม่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งจากการศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยในประเทศตะวันตก พบว่า บางประเทศใช้งบประมาณน้อย แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษากลับอยู่ในระดับที่ดี เพราะได้กำหนดเนื้อหา รวมทั้งจัดระบบการเรียนการสอน และระยะเวลา เช่น ประเทศฟินแลนด์ เยอรมนี เดนมาร์ก กำหนดให้เด็กประถมศึกษาเรียนเพียง 3 ชั่วโมงต่อวัน เวลาที่เหลือเน้นให้ออกกำลังกาย ผลการเรียนของเด็กดีกว่าเด็กที่เรียนอยู่ในห้องเรียนมากๆ ดังนั้น เงินไม่ใช่ตัวหลักสำคัญในการสร้างการศึกษาที่ดี แต่ต้องมีครูที่ดีที่สุดถ้าต้องการให้เด็กฉลาด และครูที่ดีต้องมีระบบการคัดสรรครูที่ดี ไม่ใช่มองว่าครูเป็นอาชีพที่ล้าหลัง และอยู่ท้ายสุดเมื่อเด็กต้องการจะเข้าเรียน

ด้าน ดร.สิริพร บุญญานันต์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ได้นำเสนอข้อสรุปและบทเรียนงานวิจัย ว่า การวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาระบบโรงเรียนจากทั่วโลก 20 ระบบ ไม่ใช่ 20 ประเทศ และเป็นการศึกษาตั้งแต่ปี 1985-2010 ผลวิจัยพบว่า ทุกระบบโรงเรียนที่ในแต่ละประเทศใช้อยู่นั้น ถ้าลงมือทำงานจริงๆ ภายใน 6 ปี จะมองเห็นผลการขับเคลื่อนระบบโรงเรียนให้ดีขึ้นได้ และตัวแปรที่ทำให้ระบบโรงเรียนดีขึ้น คือ งบประมาณ วัฒนธรรมของแต่ละประเทศ และคุณภาพของครู โดยเฉพาะคุณภาพครูผลจากงานวิจัย ชี้ชัดว่า ตัวแปรใหญ่ที่จะขับเคลื่อนระบบโรงเรียนให้ดีขึ้นได้นั้นต้องเริ่มที่คุณภาพของครู ครูที่ดีที่เก่ง สามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ของเด็กได้

นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ กล่าวระหว่างการอภิปรายตอนหนึ่ง ว่า ที่ผ่านมา การศึกษาไทยลองผิดลองถูกมามาก ซึ่งตอนนี้ควรจะยุติที่จะมัวไปนั่งคิดนอกกรอบและเอาเวลามาพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ ทั้งนี้ ตนมองว่า การศึกษาวิจัยดังกล่าวนี้เป็นการสะท้อนภาพรวมที่เป็นสากล และเราต้องยอมรับว่าการศึกษาไทยช่วงที่ผ่านมามีปัญหาแม้เราจะมีเด็กเก่งๆ ชนะการแข่งขันในเวทีโลก แต่นั่นเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับภาพรวมทั้งหมด ดังนั้น เราจำเป็นต้องนำบทเรียนที่ได้มานี้มาพัฒนาเพื่อแก้ไขจุดอ่อนของเราที่สำคัญคือ ต้องไปดูด้วยว่านโยบายการศึกษาใดบ้างที่พิลึกกึกกือ แล้วยกเลิกทำไปเสีย

รศ.ดร.วิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวด้วยว่า ห้ามเปลี่ยน รมว.ศึกษาธิการไม่ได้ต้องมีทิศทางมีแผนพัฒนาการศึกษาที่แน่ชัด และการปฏิรูปการศึกษาให้เกิดผล และมีความเข้มแข็ง ต้องปฏิรูปจากล่างขึ้นบนไม่ใช่จากบนลงล่าง โดยรณรงค์ให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม อย่าง 14 ตุลาคม นักเรียนนักศึกษา สนใจ อยากเรียนรู้เกี่ยวกับปฎิรูปการศึกษา และเชิญเด็กอาชีวะที่เก่งทางบู๊ ทางร่างกายมาเรียนรู้ ร่วมสู้เพื่อประเทศชาติแทนการตีกัน

ขณะที่ ดร.รุ่ง แก้วแดง อดีตรัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ระบบทุกระบบถ้าจะให้อยู่ในระบบดีหรือดีมาก ต้องมีผู้นำที่ให้ความสำคัญ สนใจ และมีการติดตาม แต่ระบบการศึกษาไทย มีการติดตามเพียงครั้งคราว มีบางรัฐบาลที่สนใจ แถมอยู่ในช่วงสั้นๆ ขณะที่วัฒนธรรมองค์กรของประเทศไทย รมว.ศึกษาธิการ ทุกคนอยากมีชื่อความเป็นเจ้าของตนเอง แม้เนื้อในจะเป็นของเดิม แต่เขียนชื่อใหม่ขึ้นมาแทน อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่วิกฤตที่สุด โดยส่วนตัว มองว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จ.ชายแดนใต้ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา ครู 60% ออกจากพื้นที่ และส่วนหนึ่งเสียชีวิตเพราะถูกยิงตาย ซึ่งถ้าจะให้ดีขึ้นได้ พัฒนาขึ้นได้ มีเงื่อนไขดี คือ เราต้องทำ
กำลังโหลดความคิดเห็น