xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.ย้ำ เดินหน้า ใช้ O-Net จบช่วงชั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฐ.เอาแน่ ใช้ O-Net จบช่วงชั้น ชี้ เลือกแนวทางใช้ O-Net มาถ่วงน้ำหนักคะแนน GPA ของโรงเรียน เตรียมยกร่างประกาศ ศธ.รองรับเพื่อเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบพร้อมประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2555 นี้

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ภายหลังที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เปิดประเด็นต่อสังคม เสนอให้ใช้คะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net มาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการประเมินจบการศึกษาระดับประถมศึกษาตอนปลาย มัธยมศึกษาต้น และมัธยมศึกษาปลาย โดยเสนอออกมา 2 แนวทาง ทางเลือกแรก กำหนดให้นักเรียนต้องได้คะแนน O-Net 20.01 ขึ้นไป และต้องผ่านการประเมินรายวิชาตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด จึงจะได้รับการพิจารณาให้จบการศึกษา ส่วนอีกทางให้ใช้คะแนน O-Net มาถ่วงค่าน้ำหนักคะแนน GPA โดยให้ใช้ในสัดส่วนคะแนน GPA ต่อคะแนน O-Net ที่ 80 :20 อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ สพฐ.ได้จัดเสวนารับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องไปเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า จะใช้คะแนน O-Net เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินจบช่วงชั้นอย่างแน่นอน โดยจะเริ่มดำเนินการทันทีตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 นี้ และเลือกใช้แนวทางที่ 2 โดยจากนี้ จะต้องมีการยกร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกมารองรับ ซึ่งขณะนี้ สพฐ.กำลังยกร่างอยู่เพื่อเตรียมเสนอ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ ให้ความเห็นชอบเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งเร็วๆ นี้ รมว.ศึกษาธิการ จะนำผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.นัดถกเรื่องการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่กับนายกรัฐมนตรี ก็คงจะใช้โอกาสดังกล่าวรายงานเรื่องนี้ให้นายกฯทราบก่อน

นายชินภัทร ยืนยันด้วยว่า แม้จะให้เริ่มดำเนินการทันทีในปีการศึกษา 2555 แต่สถานศึกษาสามารถเตรียมตัวได้ทันอย่างแน่นอนโดยไม่ต้องรอประกาศล่วงหน้าเป็นเวลานาน เพราะทั้งหมดนี้ไม่ใช่ของใหม่ การสอบ O-Net ก็ดำเนินการอยู่แล้ว โดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) แค่หยิบมาใช้ร่วมกับการประเมินของโรงเรียน เพื่อประเมินให้นักเรียนจบหรือไม่จบช่วงชั้น นอกจากนั้น ผู้ที่จะรับผลกระทบก็มีไม่มาก จริงๆ แล้ว ก็มีแค่นักเรียน ป.6 ประมาณ 1,200 คน นักเรียน ม.3 ไม่ถึงพันคน และ นักเรียน ม.6 ประมาณ 1,900 คน เท่านั้น

“ไม่ได้หมายความว่า ถ้าได้คะแนน O-Net ไม่ดีแล้วจะไม่จบ เพราะเราแค่นำคะแนน O-Net มาใช้ถ่วงน้ำหนัก GPA เท่านั้น และก็จะมีระบบซ่อมเสริมรองรับไว้ช่วยเหลือนักเรียนด้วย ส่วนในอนาคตจะมีการขยับสัดส่วน GPA ต่อ O-Net หรือไม่นั้น ก็ต้องมาพิจารณากับอีกครั้ง หลังจากที่เริ่มประกาศใช้จริง” นายชินภัทร กล่าวและว่า ส่วนการรายงานความคืบหน้าปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ต่อนายกฯ นั้น สพฐ.จะนำเสนอเป็น 2 ด้าน ด้านแรก คือ การปฏิรูปด้านวิชาการและด้านบริหาร สำหรับด้านวิชาการนั้น จะเน้นเรื่องการนำคะแนน O-Net มาใช้วางแผนยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา โดยมุ่งไปที่การพัฒนาครู จะมีการสร้างระบบให้ครู ต้องรับผิดรับชอบต่อผลการเรียนของนักเรียน โดยเฉพาะที่สะท้อนออกมาเป็นคะแนน O-Net เพื่อมุ่งหวังให้ครูสนใจนักเรียน สนใจพัฒนาการเรียนการสอนมากขึ้น ส่วนด้านการบริหารนั้น เน้นให้การบริหารทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการบริหารบุคคลมีความโปร่งใสตามนโยบายกระทรวงศึกษาไทยใสสะอาดของ รมว.ศธ.

ด้านนายเกษม สดงาม ผอ.โรงเรียนสตรีวิทยา 2 กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพการศึกษา จริงๆ แล้ว ต้องทำให้คุณภาพโรงเรียนยกระดับขึ้นมาทัดเทียม การดำเนินจึงต้องเน้นไปที่การพัฒนาโรงเรียนและครู แต่ปัจจุบันโรงเรียนจำนวนมากยังประสบปัญหาขาดแคลนครู อย่างที่โรงเรียนต้องจ้างครูและบุคลากรเพิ่มเอง 76 คน ส่วนการนำคะแนน O-Net มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินจบช่วงชั้น ก็ทำได้แต่ไม่ควรเร่งรีบ และควรมีการประกาศล่วงหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น