สพฐ.นัดถกผู้เกี่ยวข้องหารือนำคะแนน O-Net เป็นส่วนหนึ่งในการจบช่วงชั้น หรือ Exit Exam ในระดับ ม.3 และ ม.6 หากเป็นไปได้จะนำมาใช้ในปีการศึกษา 55 ขณะที่นักวิชาการศึกษา แนะทำประชาพิจารณ์ถามความเห็นก่อนเดินหน้า
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการนำคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) มาใช้ในการจบช่วงชั้น หรือ Exit Exam ว่า ในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ สพฐ.จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวร่วมกันอีกรอบ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าหากจะใช้คะแนน O-Net เป็นส่วนประกอบในการจบช่วงชั้นจะต้องมีหลักการ หรือแนวทางอย่างไร ซึ่งแนวนโยบายที่ได้รับ และที่เคยได้หารือกับสถาบันการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) คือ จะนำคะแนน O-Net มาใช้ในการจบช่วงชั้น ใน 2 ช่วงชั้นคือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ ม.6 เหตุผล เพราะ ม.3 เป็นการจบการศึกษาภาคบังคับ และ ม.6 เป็นการจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการหารือเรื่องดังกล่าวกับผู้เกี่ยวข้องไประยะหนึ่งแล้ว มีข้อเสนอว่า ควรจะให้มีผลกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ด้วย ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ สทศ.และ สพฐ.ได้รับ จึงจะนำเรื่องดังกล่าวมาเสวนาร่วมกันอีกครั้ง หากได้ข้อสรุปจะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา (ครม.) เพื่อดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหากสามารถดำเนินการได้ทันคาดว่าจะสามารถนำไปใช้ได้ทันในปีการศึกษา 2555
ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การนำ O-Net มาใช้จบช่วงชั้น หากจะทำจริง จะมีผลกระทบกับการศึกษาค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงอยากให้เปิดประชาพิจารณ์ก่อน เพราะถือเป็นนโยบายสาธารณะที่มีผลกับโรงเรียนถึง 3 หมื่นกว่าโรงเรียน ตรงนี้ต้องดูให้รอบคอบ ชัดเจน และเป็นธรรมกับเด็ก และโรงเรียนทุกแห่งด้วย อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นด้วยกับการใช้คะแนน O-Net จบช่วงชั้นระดับหนึ่ง แต่ต้องระวังว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะโรงเรียนดัง แต่อาจจะไม่เป็นธรรมกับโรงเรียนบางแห่ง เช่น โรงเรียนที่มีครูไม่ครบชั้น หรือโรงเรียนที่เน้นทางวิชาชีพ อาทิ โรงเรียนตามชายแดน ที่ต้องการทักษะในการประกอบอาชีพ ดังนั้น การใช้ O-Net ในการจบช่วงชั้นจึงไม่ควรนำมาใช้กับทุกโรงเรียน และต้องเปิดลู่ให้โรงเรียนทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่เน้นสอนวิชาการด้วย