ศธ.เล็งแก้ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา หวังเปิดช่องเด็กจบภาษาเป็นครูได้ง่ายขึ้น
น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยหมินจู หรือมหาวิทยาลัยชนชาติกลาง ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี นายหม่า เหมิน ฉี อธิการบดีและผู้บริหารให้การตอนรับ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า มหาวิทยาลัยหมินจู เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาจากชาติต่างๆ เข้ามาเรียนภาษาจีน โดยขณะนี้มีนักศึกษาไทยที่มาเรียนในมหาวิทยาลัยหมินจู ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ประมาณ 40 คน นอกจากนั้น ยังเป็นมหาวิทยาลัยหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติหรือ ฮั่นปั่น ในการฝึกอบรมครูเพื่อไปสอนภาษาจีนในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยครั้งนี้ตนได้ขอความร่วมมือจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้ช่วยสนับสนุนการเพิ่มจำนวนครูสอนภาษาจีนในประเทศไทย รวมถึงจะมีความร่วมมือในการจัดอบรมครูไทยในการสอนภาษาจีนร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูสอนภาษาจีนในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา พบว่า บัณฑิตที่จบปริญญาด้านภาษาศาสตร์จากประเทศต่างๆ จำนวนมาก ทั้งจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ ที่มีปริญญาการันตีว่าสามารถทำการสอนภาษาจากประเทศที่เรียนมาได้ แต่ไม่มีในประกาศนียบัตรวิชาชีพครู หรือ ป.บัณฑิต ที่ออกโดยสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จึงไม่สามารถสอนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ ขณะเดียวกัน ในส่วนของบัณฑิตที่เรียนด้านภาษาศาสตร์ในประเทศไทยเองหากต้องการมาสอนก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน เพราะไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู เนื่องจากไม่ได้เรียนในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์โดยตรง เพราะขณะนี้คุรุสภาได้ยกเลิกการรับรองหลักสูตร ป.บัณฑิตไปแล้ว เท่ากับทำให้คนเหล่านี้เข้าสู่วิชาชีพครูได้ยากยิ่งขึ้น ทั้งที่ขณะนี้โรงเรียนกำลังมีปัญหาขาดแคลนครูสอนภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะครูจีน ดังนั้น ที่ผ่านมา ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงได้หารือถึงแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวร่วมกับทางคุรุสภา และเห็นว่า อาจจะต้องมีการปรับแก้ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้คนเหล่านี้สามารถสอนได้
ด้าน น.ส.อุษณีย์ วัฒนพันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.ในฐานะหัวหน้าสถาบันการแปลและการส่งเสริมภาษาจีน กล่าวว่า ที่ผ่านมา สพฐ.พยายามพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากความร่วมมือจากฮั่นปั่นในการจัดหาครูอาสาสมัครจากจีนมาสอนในไทย และช่วยจัดทำหลักสูตรการสอนภาษาจีนตั้งแต่ปี 2549-2553 ซึ่งที่ผ่านมา สพฐ.ได้จัดทุนการศึกษาด้านการสอนภาษาจีนเป็นเวลา 1 ปี ให้กับบัณฑิตที่จบเอกภาษาจีนแต่ไม่มีใบ ป.บัณฑิต เพื่อผลิตครูสอนภาษาจีนที่ตรงวุฒิ โดยให้เรียน ป.บัณฑิต ที่ประเทศไทยก่อน ไปศึกษาต่อที่ประเทศจีน ซึ่งขณะนี้ผู้รับทุนรุ่นที่ 1-2 ได้บรรจุเป็นครู สพฐ.แล้ว 199 คน ส่วนรุ่นที่ 3 อีก 101 คนกำลังจะบรรจุในปีการศึกษา 2555 นี้ ทั้งนี้การที่คุรุสภายกเลิกการรับรองหลักสูตร ป.บัณฑิตนั้น สำหรับ สพฐ.ถ้ามีความจำเป็นต้องการครูเหล่านี้จริงๆ ก็สามารถขออนุมัติได้ในกรณีจำเป็น แต่ก็ถือว่าเป็นจำนวนน้อย อาจจะไม่เพียงพอกับความต้องการจริงๆ ทั้งที่ขณะนี้มีผู้ที่จบด้านภาษาที่เป็นความต้องการ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น จำนวนหนึ่งในประเทศไทย ที่ต้องการอยากเป็นครูเพราะปัจจุบันอาชีพครู ถือว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี รวมถึงมีเงินเดือนที่ดีขึ้น แต่ติดปัญหาไม่มีใบ ป.บัณฑิต โดยทางศธ.กำลังแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อเปิดช่องทางให้คนเหล่านี้สามารถเป็นครูได้