xs
xsm
sm
md
lg

สายธารขบวนการประชาสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ผลสะเทือนของขบวนการทางสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมอาจไม่สามารถมองผ่านรูปธรรมความสำเร็จของการผลักดันนโยบายสาธารณะได้ ด้วยในวิกฤตการณ์ความไม่เป็นธรรมและเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่ถั่งโถมผู้คนจนเจ็บแค้นขื่นขมนั้นหยั่งรากฝังลึกถึงระดับโครงสร้างและระบบจนยากจะแก้ไขได้ด้วยขบวนการภาคประชาสังคมที่การเคลื่อนไหวในห้วงหนึ่งๆ มักมุ่งแต่ผลักดันนโยบายสาธารณะตามความมุ่งหมายของกลุ่มตนโดยระหว่างทางมักกีดกันกดทับ (exclusion) กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยออกไป

ในความขัดแย้งแตกแยกของสังคมไทยที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการเลือกข้างทางการเมืองนั้น จึงมีกลไกความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางสังคมคอยค้ำจุนโครงสร้างความเอารัดเอาเปรียบอยู่จนกระทั่งผู้คนยอมจำนนท้อแท้เพราะไม่เห็นหนทางรอดพ้นจากโครงสร้างความอยุติธรรมที่ถับถมทวี

ทั้งที่ถ้าเพียงมุ่งมั่นผลักดันต่อไปภายใต้ยุทธศาสตร์การ ‘เปลี่ยน’ ประเทศไทยบนฐานความรู้และการมีส่วนร่วมสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนสังคมก็จะประสบผลสำเร็จได้ในที่สุด ถึงแม้ว่าระหว่างการเคลื่อนขบวนอาจจะไม่ปรากฏผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะแต่อย่างใดก็ตามที

ทว่าที่สุดแล้วข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนสังคมอย่างกว้างขวางก็ทำให้ข้อเสนอเหล่านั้นไม่ได้หายไปไหนแม้ว่าภาครัฐจะไม่ได้นำข้อเสนอเหล่านั้นไปปฏิบัติหรือนำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในการกำหนดมาตรการหรือนโยบาย เพราะภายในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมที่เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้เข้าร่วมที่หลากหลายสามารถแสดงความคิดเห็นบนผลประโยชน์ที่แตกต่างได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘มติสมัชชาปฏิรูประดับชาติ’ ซึ่งผ่านมาแล้ว 2 ครั้งในปี 2554 และ 2555 ที่อยู่บนแนวทางการแสวงหาฉันทามติที่ทำให้ข้อวิวาทะถกเถียงหยุดลงได้ด้วยความสมานฉันท์นั้นได้ทำให้กลุ่มผู้เข้าร่วมรวมถึงสังคมโดยรวมรับรู้ตระหนักว่าตนเองเป็นเจ้าของประเด็นเหล่านั้นจริงแท้

ที่สำคัญกระบวนสมัชชาปฏิรูปที่มุ่งผนวกรวม (inclusion) เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนและชุมชน ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาครัฐ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างหลากหลายและกว้างขวางบนฐานของปัญญา ความรู้ และความสมานฉันท์ โดยมีการจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติหรือนำไปพิจารณากำหนดเป็นนโยบายสาธารณะสำหรับการปฏิรูปประเทศไทยต่อไปนั้นจะสามารถทำให้เป้าหมายร่วมของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) รวมทั้งสังคมไทยโดยรวมที่ต้องการ ‘สร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย’ มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติจริงยิ่งขึ้น

ดังที่มติสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 1 ซึ่งมีด้วยกัน 8 เรื่อง ทั้ง 1) การปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน 2) การปฏิรูปโครงสร้างการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง 3) การคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนกรณีที่ดินและทรัพยากร 4) การปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อความเป็นธรรม 5) การสร้างระบบหลักประกันในการดำรงชีพและและระบบสังคมที่สร้างเสริมสุขภาวะแก่ผู้สูงอายุ

6) การสร้างสังคมที่คนไทยอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน 7) การปฏิรูปการกระจายอำนาจเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และ 8) ศิลปวัฒนธรรมกับการสร้างสรรค์และเยียวยาสังคม ที่ถึงจะยังไม่บรรลุเพราะภาครัฐไม่ได้นำมติเหล่านี้ไปใช้กำหนดนโยบายสาธารณะ หากแต่สายธารความปรารถนาที่จะสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็ไม่ได้ขาดหายเหือดแห้งไปไหนเพราะได้ถูกส่งผ่านความต่อเนื่องมายังสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 2 ซึ่งต้องการสร้าง ‘พลเมืองปฏิรูปประเทศไทย’ เพื่อผลักดันไทยให้ไปพ้นหลุมดำเหลื่อมล้ำอยุติธรรม

ทั้งนี้มติสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่สองจึงมุ่งสร้างความเป็นธรรมทางสังคมอย่างต่อเนื่องผ่านข้อเสนอ 1) การปฏิรูประบบแรงงานและสวัสดิการ : การเพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงาน การปรับโครงสร้างค่าจ้างและการคุ้มครองแรงงาน 2) การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ : สู่การปรับดุลอำนาจที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลกลางกับชุมชนท้องถิ่น 3) การปฏิรูประบบเกษตรกรรม : ความมั่นคงเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตเกษตรกร 4) การปฏิรูประบบการเมือง : พัฒนาความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย 5) การปฏิรูปโครงสร้างและกฎหมายด้านที่ดิน : การบริหารจัดการที่ดิน และ 6) การปฏิรูปการศึกษา : ปรับทิศทางการศึกษาเพื่อสร้างคุณภาพ เพื่อจะสืบสานสายธารข้อเสนอปีแรกและปีที่สองเป็นแม่น้ำแห่งการปฏิรูปประเทศไทยหนึ่งเดียว

อีกทั้งการจะปฏิรูปประเทศไทยในระดับโครงสร้างเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้าง (structural transformation) คงต้องมองไปข้างหน้าโดยวิเคราะห์วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างลุ่มลึกรอบด้านรอบคอบก่อนนำเสนอเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังที่สมัชชาปฏิรูปได้เชิญชวนภาคีเครือข่ายเข้าร่วมเสนอประเด็นนโยบายสาธารณะเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อพิจารณากำหนดเป็นระเบียบวาระสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 3 ในปี 2556 บนพื้นฐานความสำคัญดังต่อไปนี้ 1) เป็นประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบในวงกว้างหรือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง 2) เป็นประเด็นเชิงนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำหรือสร้างความเป็นธรรม หรือนำไปสู่การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง 3) มีความพร้อมทั้งด้านวิชาการ มีข้อมูลการวิเคราะห์/สังเคราะห์ด้านวิชาการ 4) มีเจ้าภาพพร้อมขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติ และ 5) มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

มติสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 3 ว่าด้วยนโยบายสาธารณะในการสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมจึงเป็นความวาดหวังของภาคประชาสังคมในการเสนอแนะทางออกโดยพลังอำนาจของตนเองจากวิกฤตการณ์ความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างและระบบของประเทศไทยโดยไม่ต้องรอให้นักการเมืองมีเจตจำนงทางการเมือง (political will) ที่จะกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งยากจะเกิดขึ้นได้ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยที่ยังหยั่งรากลึกไม่มากนัก

ความเป็นไปได้ในการปฏิรูปประเทศไทยที่มีเป้าหมายในการสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดทอนความเหลื่อมล้ำในสังคมนอกจากต้องปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพทางอำนาจใหม่ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของภาครัฐแล้ว ยังต้องสืบสานสายธารขวนการภาคประชาสังคมในการลดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมทางสังคมเพื่อจะขยายแนวร่วมที่กว้างขวางในการปฏิรูปประเทศไทยทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น