กทม.ปรับแผนเดินเรือโดยสารคลองแสนแสบ เบื้องต้นให้บริการนักเรียนฟรี 7 เดือน 7 ท่าก่อนประเมินให้บริการประชาชนเพิ่มเติม
นายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนายการบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เปิดเผยว่า ขณะนี้ เคทีได้รับอนุมัติหลักการจากคณะผู้บริหาร กทม.ให้ปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์และรูปแบบการให้บริการเดินเรือโดยสารในเส้นทางส่วนต่อขยายคลองแสนแสบ ช่วงจากท่าน้ำวัดศรีบุญเรือง ถึงมีนบุรี จากเดิมที่มีแผนจะทดลองให้บริการประชาชนทั่วไปในชั่วโมงเร่งด่วน (เช้า-เย็น) รวม 14 ท่า ระยะเวลาทดลอง 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป เป็นการทดลองเดินเรือสำหรับให้บริการเด็กนักเรียนที่อยู่ในเส้นทางส่วนต่อขยาย ซึ่งมีอย่างน้อย 11 โรงเรียน จำนวนเด็กนักเรียนไม่ต่ำกว่า 14,000 คน ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน รวม 7 ท่า ระยะเวลา 7 เดือนแทน ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งสรุปรายละเอียดเพื่อเตรียมเสนอขออนุมัติโครงการและงบประมาณจาก กทม.โดยเร็วที่สุด และคาดว่า จะสามารถเริ่มทดลองให้บริการได้เดือน ก.ย.นี้ หรือช้าที่สุดคือไม่เกินสิ้นปี 2555 นี้อย่างแน่นอน
นายอมร กล่าวอีกว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ กทม.จำเป็นต้องชะลอแผนการเดิมที่ตั้งใจจะทดลองให้บริการประชาชนทั่วไปออกไปก่อนนั้น เนื่องจากปัจจุบันยังขาดความพร้อมหลายด้าน ทั้งในส่วนของการพัฒนาท่าเรือและพื้นที่โดยรอบเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงของประชาชน ตลอดจนวิธีแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเปลี่ยนเรือบริเวณประตูระบายน้ำบางชันซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การขยายโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนตามนโยบาย กทม.สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ประกอบกับผลการสำรวจ พบว่า มีเด็กนักเรียนในพื้นที่เส้นทางส่วนต่อขยายดังกล่าวกว่า 7,000 คน หรือเกินครึ่งของจำนวนทั้งหมด เดินทางไป-กลับโรงเรียนทางเรือ ขณะเดียวกัน ก็กำลังเข้าช่วงฤดูมรสุมปลายปีอีกด้วย ทำให้ กทม.ตัดสินใจที่ทดลองให้บริการกลุ่มเด็กนักเรียนก่อนเป็นกลุ่มแรกแทน โดยจะเป็นการให้บริการฟรีตลอดสายในช่วงแรก เบื้องต้นใช้งบประมาณสำหรับว่าจ้างเอกชนรวมทั้งสิ้นประมาณ 35 ล้านบาท
นายอมร กล่าวด้วยว่า สำหรับจุดรับ-ส่งที่บริเวณท่าเรือทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ 1.ท่าโรงเรียนพร้อมมิตรวิทยา 2.ท่ารามคำแหง 125 3.ท่าสุเหร่าอัสลาม 4.ท่ารามคำแหง 167 5.วัดบำเพ็ญเหนือ 6.ท่าตลาดมีนบุรี และ 7.ท่าสำนักงานเขตมีนบุรี คิดเป็นระยะทาง 11 กิโลเมตรเศษ จากนั้นเมื่อครบกำหนด 7 เดือนที่ให้บริการเด็กนักเรียนแล้ว จึงจะมีการประเมินผลความพร้อมรวมถึงความต้องการของประชาชนอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่า กทม.ควรขยายการให้บริการเดินเรือสำหรับประชาชนทั่วไปหรือไม่ และอย่างไร ควบคู่ไปกับการเร่งปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ท่าเรือให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วย หลังจากที่ผ่านมายังพบปัญหาอุปสรรคหลายเรื่อง อาทิ ท่าเรือ 14 ท่าในเส้นทางนั้น พบว่า บางช่วงมีท่าเรืออยู่ใกล้หรือติดกันเกินไป ขณะที่หลายแห่งประชาชนยังเข้าถึงได้ยาก ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การขยายเส้นทางระบบขนส่งมวลชน