xs
xsm
sm
md
lg

คร.แนะพาสัตว์เลี้ยงฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
คร.แนะพากระต่าย กระแต กระรอก สัตว์ฟันแทะฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า หลังปีที่ผ่านมา พบตายจากโรคพิษสุนัขบ้า 9 ราย โดย 7/9 ติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงของตัวเอง เผย รู้สายพันธุ์ย่อยเชื้อจะรู้แหล่งที่มาจากภาคไหน ด้าน กทม. ประชุมวางมาตรการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า หลังพบเชื้อในกระต่าย เผยเตรียมสุ่มตรวจพื้นที่ขายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีมีการตรวจพบประชาชนถูกกระต่ายติดเชื้อพิษสุนัขบ้ากัดที่เขตจอมทอง กทม.ว่า คนในครอบครัวนี้ซื้อกระต่ายจากตลาดนัดจตุจักร เมื่อ 6 เดือน ขณะกระต่ายอายุ 1 เดือน แต่มีนิสัยดุร้ายมาก กัดคนในบ้านถึง 5 คน โดย 1 ราย มีอาการรุนแรง จึงได้มีการตัดหัวกระต่ายเพื่อส่งตรวจ ปรากฏว่า พบเชื้อเรบีส์ หรือเชื้อพิษสุนัขบ้า ซึ่งชื้อดังกล่าวสามารถเกิดการติดต่อได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด แต่ในประเทศส่วนใหญ่เจอในสุนัขและแมวเป็นหลัก

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า หลังเกิดเหตุทราบว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการดูแลรัศมี 5 กิโลเมตร รอบบ้านหลังดังกล่าว โดยการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์ต้องสงสัยโดยเฉพาะสุนัขและแมวเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ยังได้ฉีดวัคซีนให้คนในครอบครัวที่เลี้ยงกระต่ายตัวดังกล่าวครบแล้ว อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคเป็นเรื่องการควบคุมโรคที่จะติดต่อมาถึงคน จึงต้องมีการสืบสวนหาต้นตอการติดเชื้อของกระต่าย ว่า มาจากที่ไหน โดยประสานกรมปศุสัตว์เข้าดำเนินการ ซึ่งหากทราบสายพันธุ์ย่อยของเชื้อก็จะทำให้ทราบได้ว่าติดเชื้อมาจากภาคไหนของประเทศไทย เนื่องจากสายพันธุ์ย่อยของเชื้อในแต่ละภาคมีความแตกต่างกัน

“สมมติฐานเบื้องต้นคาดว่า กระต่ายจะติดเชื้อจากสัตว์ฟันแทะอย่างกระรอก กระแต ที่พบว่า จะติดเชื้อนี้บ้างแต่ไม่บ่อยนัก แต่ถ้าตรวจพบว่าไม่ได้ติดเชื้อจากในพื้นที่ กทม.ถือว่าเรื่องใหญ่ ดังนั้น ประชาชนรัศมีโดยรอบบ้านหลังดังกล่าว 5 กิโลเมตร หากถูกกระรอก กระแต หรือหนูกัด หรือสัมผัสโดนน้ำลาย ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ที่สำคัญ อยากเลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หรือสัตว์ฟันแทะ ถ้าอยากปลอดภัยควรนำสัตว์ไปฉีดวัคซีนทุกตัว เพราะเราไม่รู้ว่าสัตว์ที่เลี้ยงไปสัมผัสสัตว์อะไรหรือสิ่งใดมาบ้าง โดยควรปรึกษาสัตวแพทย์ในการฉีดวัคซีนสัตว์แต่ละชนิด” นพ.พรเทพ กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า 7 เดือนแรกของปี 2555 มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 3 ราย ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค ว่า ติดมาจากที่ไหน อย่างไร แต่เมื่อปี 2554 มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 9 ราย โดย 7 ใน 9 ราย ติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงของตัวเอง โดยเฉพาะสุนัข แมว ทั้งนี้ ประชาชนที่ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์เลี้ยงสามารถรวมกลุ่มกันประมาณ 10 ตัวแล้วติดต่อมายังกรมคร.ที่สายด่วน 1422 จะดำเนินการประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าฉีดวัคซีนให้ในหมู่บ้าน

พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในกระต่าย ซึ่งขณะนี้พบผู้ได้รับเชื้อแล้ว 5 ราย ว่า เบื้องต้นได้ทำการแยกผู้ป่วยเพื่อตรวจเชื้ออย่างละเอียดอีกครั้ง และส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่หาสาเหตุของการติดเชื้อดังกล่าว หากพบก็จะทำการล้อมพื้นที่ที่พบเชื้อ ในรัศมี 3-5 กิโลเมตร และติดตามดูว่ามีสัตว์ในพื้นที่มีอาการผิดปกติหรือไม่ ซึ่งทาง กทม.จะทำการสุ่มตรวจพื้นที่ที่มีการจำหน่ายสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม เพราะสัตว์เหล่านี้มีโอกาสติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้สูง พร้อมทั้งให้ความรู้ถึงการป้องกัน การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และการจัดระเบียบการจำหน่ายสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ต่างๆ ให้มากขึ้น

ทั้งนี้ จากสถิติโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ กทม.ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า ยังไม่พบการติดเชื้อดังกล่าวในคน แต่ก็ต้องมีการวางมาตรการป้องกันและดูแลอย่างใกล้ชิด หากประชาชนพบสัตว์ที่มีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่อย่างเร่งด่วน และขอความร่วมมือผู้ประกอบการจำหน่ายสัตว์เลี้ยง รวมถึงผู้เลี้ยงควรนำสัตว์เลี้ยงของตนเองไปฉีดวัคซีนพื่อป้องกันโรคดังกล่าว

พญ.มาลินี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 ให้มีการกำหนดประเภทของสัตว์ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดย พ.ร.บ.ทั้งสองตัวมีความเก่าและไม่ครอบคลุม เช่น พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้าจะเจาะจงเฉพาะสุนัขกับแมวแต่ยังมีสัตว์อื่นที่เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดเขตที่พบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ามากที่สุด ได้แก่ เขตบางบอน กับบางขุนเทียน

ทั้งนี้ โรคพิษสุนัขบ้าในกระต่าย หรือ Rabies ตนเองยืนยันได้ว่า โรคดังกล่าวไม่ได้เป็นการกลายพันธุ์ เพราะโรคพิษสนุขบ้าสามารถเกิดได้กับสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม อาทิ กระรอก กระต่าย หนู
กำลังโหลดความคิดเห็น