xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.กาญจน์เตือน ปชช.ระวังโรคร้ายมากับหน้าร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.อภิชาติ รอดสม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี (คนสวมแว่นตาคนกลาง)
กาญจนบุรี - สสจ.กาญจนบุรี เตือนประชาชนให้ระวังโรคระบบทางเดินอาหาร โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ บิด อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย รวมทั้งโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนนี้

เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ (26 เม.ย.) นพ.อภิชาติ รอดสม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงฤดูร้อน เชื้อโรคเจริญเติบโตเร็ว อาจเกิดการระบาดของโรคติดต่อหลายชนิด โดยเฉพาะโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ บิด อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย จึงขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังความสะอาดของน้ำ และอาหารมากขึ้น ส่วนผู้ที่เลี้ยงสุนัข และแมวต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เป็นประจำทุกปี

“จากรายงานเฝ้าระวังโรคทางระบาดวิทยาของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีในช่วงเดือนมกราคม-24 มีนาคม 2555 พบว่า ประชาชนป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงมากที่สุด จำนวน 3,186 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 380.12 ต่อประชากรแสนคน นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจำนวน 111 ราย และโรคบิด จำนวน 10 ราย ทุกโรคที่กล่าวมานี้ล้วนแต่เป็นโรคที่ติดต่อทางน้ำ และอาหารที่เรากินทั้งสิ้น”

นพ.อภิชาติ กล่าวต่อว่า อาการที่จะสังเกตได้ว่าเป็นโรคอุจจาระร่วง คือ ถ่ายอุจจาระเหลว หรือมีมูกเลือดปน การถ่ายอุจจาระหลายๆ ครั้ง ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ และเกลือแร่ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการช็อก และเสียชีวิตได้ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วง โดยระมัดระวังในเรื่องความสะอาดของอาหาร ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่มื้อต่อมื้อ อาหารที่เหลือจากการบริโภคควรเก็บในตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนทั่วถึงก่อนนำมารับประทาน

สำหรับการบริโภคน้ำดื่มขอแนะนำให้ดื่มน้ำต้มสุก การบริโภคน้ำแข็งควรเลือกซื้อน้ำแข็งหลอดที่มีภาชนะปกปิดสะอาด ไม่ควรนำน้ำแข็งที่แช่รวมกับอาหารอื่นมารับประทาน นอกจากนี้ ขอย้ำให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ก่อนรับประทานอาหาร และภายหลังการขับถ่าย “ล้างมือทุกครั้ง หยุดยั้งเชื้อโรค” ควรกำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหาร ในบ้าน และบริเวณบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ หรือแมลงนำโรค รวมทั้งควรใช้ส้วมที่สะอาดถูกสุขลักษณะ หากพบว่าคนในบ้านเจ็บป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วง ควรรักษาเบื้องต้นด้วยการดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือน้ำผลไม้ น้ำข้าว ข้าวต้ม หรือน้ำแกงจืด โดยกินทีละน้อยแต่บ่อยๆ หรือกินทุกครั้งที่ถ่ายเหลว ไม่ควรซื้อยามากินเอง และถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ส่วนโรคติดต่อที่มักเกิดในฤดูร้อนอีกโรคหนึ่ง คือ โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ โรคนี้ยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยเมื่อมีอาการมักเสียชีวิตทุกราย โรคนี้พบได้ตลอดปีแต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงในช่วงหน้าร้อน

สำหรับปี 2555 จังหวัดกาญจนบุรี พบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 1 ราย โรคนี้ติดต่อจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด หรือข่วน หรือเลียบริเวณที่มีแผลอยู่แล้ว หรือน้ำลายของสัตว์กระเด็นเข้าตา ปาก จมูก หลังจากเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 4 เดือน หรือบางรายอาจเร็วเพียง 4 วัน หรือนานเป็นปีจึงจะมีอาการ อาการจะปรากฏเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่เข้าไป เช่น หากถูกกัดบาดแผลใหญ่ ลึก ทำให้เชื้อเข้าไปได้มาก และขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เชื้อเข้า ถ้าบริเวณนั้นมีปลายประสาทมากจะอันตราย เพราะเชื้อมีโอกาสเข้าสู่ระบบประสาท ถ้าอยู่ใกล้สมองมากเชื้อจะเข้าไปถึงสมองได้เร็ว อาการจะปรากฏได้เร็ว

นพ.อภิชาติ กล่าวอีกว่า อาการของสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ามีอาการ 2 แบบ คือ แบบดุร้าย นิสัยของสัตว์จะผิดไปจากเดิม ตื่นเต้น ตกใจง่าย กระวนกระวาย กัดทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า ไวต่อแสงและเสียง ต่อมา เป็นอัมพาต หลังแข็ง หางตก ลิ้นห้อย กลืนไม่ได้ ขากรรไกรแข็ง ชัก และตายภายใน 10 วันหลังแสดงอาการ บางตัวอาจมีอาการแบบซึม มีอาการคล้ายมีก้าง หรือกระดูกติดคอ ทำให้เจ้าของ หรือคนเลี้ยงเข้าใจผิดเอามือเข้าไปล้วงในปาก

ดังนั้น วิธีป้องกันที่ดีที่สุดให้นำสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคปีละครั้ง และควรดูแลลูกหลานไม่ให้คลุกคลี หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงที่ไม่รู้ที่มาที่ไป สัตว์จรจัด หรือสัตว์ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหากถูกสุนัข หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว กระต่าย กระรอก เป็นต้นกัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่ และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง เช็ดให้แห้งแล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวีโดนไอโอดีน พร้อมทั้งติดตามหาเจ้าของสุนัขเพื่อสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนแล้วรีบไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ใกล้ที่สุด เพื่อรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนให้ครบตามนัดหมายโดยเคร่งครัด
กำลังโหลดความคิดเห็น