กรมควบคุมโรค แนะนำ 5ย.ป้องกันการถูกสุนัขกัด “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง” ให้ประชาชนทำตามอย่างเคร่งครัด
วันนี้ (1 ก.พ.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการตรวจพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในหัวสุนัขและแมวที่ส่งตรวจที่สถานเสาวภา ในช่วงระหว่างวันที่ 4-23 ม.ค.2555 จำนวน 6 หัว แยกเป็นหัวสุนัข 4 หัว หัวแมว 2 หัว ในหลายพื้นของเขต กทม.ว่า จากกรณีดังกล่าว ขอแนะนำประชาชนเพิ่มเติมว่า นอกจากการเฝ้าระวัง ว่า มีสุนัขแปลกหน้าหรือมีอาการน่าสงสัยแล้ว สุนัขที่มีเจ้าของเองก็ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน โดยเฉพาะเด็กเล็กหากเล่นกับสุนัขของตนเอง หรือออกไปเล่นนอกบ้าน อาจจะไปแหย่หรือเหยียบสุนัขได้ เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมยั่วยุ โน้มนำให้สุนัขกัด ทั้งจากสุนัขของตนเองและสุนัขที่ไม่คุ้นเคย หรือไม่ทราบประวัติ พร้อมแนะนำประชาชนยึดหลัก 5ย.ป้องกันการถูกสุนัขกัด ได้แก่ “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง” มีรายละเอียด ดังนี้ อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข (หาง, ตัว, ขา) หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2553 มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 15 ราย สัตว์ต้นเหตุแยกเป็นสุนัขมีเจ้าของ 10 ราย สุนัขจรจัด 4 ราย และแมวจรจัด 1 ราย ส่วนในปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 7 รายนั้น สัตว์ต้นเหตุแยกเป็นสัตว์มีเจ้าของ 5 ราย และไม่มีเจ้าของ 2 ราย ส่วนกลุ่มที่ถูกกัดมากที่สุด คือ กลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปี และ อายุ 1-4 ปี จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าสัตว์ต้นเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่มีเจ้าของและไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน ดังนั้น ผู้เลี้ยงสุนัขเองก็ควรศึกษาวิธีการเลี้ยงอย่างถูกต้อง และมีความรับผิดชอบเลี้ยงแล้วต้องพาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครั้งแรกเมื่อสุนัขอายุ 2-4 เดือน ไม่ปล่อยสุนัขไปในที่สาธารณะตามลำพัง ทุกครั้งที่นำสุนัขออกนอกบ้านต้องอยู่ในสายจูง ควรคุมกำเนิดไม่ให้มีสุนัขมากเกินไป และต้องไม่นำสุนัขไปปล่อยในที่สาธารณะ ที่สำคัญ ไม่ควรให้สุนัขเลียมือหรือใช้มือล้วงคอช่วยเหลือสุนัข โดยไม่แน่ใจว่ามีอะไรติดคอ หากถูกสุนัขกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง แล้วเช็ดให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจนครบตามที่แพทย์สั่ง จำสัตว์ที่กัดให้ได้เพื่อสืบหาเจ้าของและสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าติดตามดูอาการสุนัข 10 วัน และถ้าพบสุนัขตายลง โดยก่อนตาย 10 วัน มีประวัติกัดคนหรือสัตว์อื่น ควรนำหัวส่งตรวจโดยประสานกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์พื้นที่ใกล้บ้าน
นพ.พรเทพ กล่าวว่า ช่วงนี้โรคพิษสุนัขบ้าอาจจะระบาดหรือเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากภายหลังเกิดเหตุการณ์อุทกภัยพบว่ามีหมาพลัดหลง ทำให้จำนวนสุนัขจรจัดเพิ่มมากขึ้น จึงควรระวังในการเก็บสุนัขมาเลี้ยง เพราะสุนัขอาจจะไปรับเชื้อจากสุนัขที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และมีเชื้ออยู่ในน้ำลายได้โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคอันตรายมาก ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ไปหาหมอ เพราะบาดแผลเล็กน้อยหรือลูกสุนัขหรือมีเจ้าของจึงไม่ใส่ใจ ที่สำคัญโรคนี้เป็นแล้วตายทุกราย ไม่มียารักษา สามารถป้องกันได้ด้วยการนำสุนัขทุกตัวไปรับการฉีดวัคซีน และลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโดยการหลีกเลี่ยงการถูกสุนัขกัด “เมื่อถูกกัดแล้ว ต้องล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดต่อจนครบ” และปฏิบัติตามคำแนะนำ 5ย.ข้างต้น เพื่อป้องกันการถูกสุนัขกัด
“ในส่วนของกรมควบคุมโรคก็ได้ดำเนินกิจกรรมในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยร่วมโครงการรณรงค์การฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมวกับกรมปศุสัตว์ รวมถึงการประชุมร่วมระหว่างผู้บริหารระดับสูงของกรมควบคุมโรคและกรมปศุสัตว์ เพื่อประสานความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน นอกจากนี้ยังมีการจัดประกวดหน่วยงานป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าดีเด่น (MoPH-MoAC Rabies Award) เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ทั้ง อบต.และเทศบาล และทุกปีก็จะมีการร่วมมือกันจัดงานวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนด้วย หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร.1422” นพ.พรเทพ กล่าว