xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง “หมาบ้า” ระบาดใน กทม.!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เตือนอันตราย “หมาบ้า” ระบาดทั่วกรุง กรมควบคุมโรค เผย ข้อมูลตรวจหัวหมา พบเชื้อพิษสุนัขบ้าถึง 6 หัว ในช่วงระยะเวลาเพียง 20 วัน ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัขแปลกหน

วานนี้ (31 ม.ค.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ได้ตรวจสอบรายงานการตรวจหาเชื้อพิษสุนัขบ้าในหัวสุนัขที่ส่งตรวจที่สถานเสาวภา ในช่วงระหว่างวันที่ 4-23 ม.ค.2555 พบว่า หัวสุนัขจำนวน 6 หัวที่ส่งตรวจมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จึงได้ประสานข้อมูลกับทางสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้รายละเอียดว่า หัวสุนัขที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทั้ง 6 หัวนั้น เป็นสุนัขที่ถูกส่งมาจากหลายพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยหัวสุนัขที่ส่งตรวจเมื่อวันที่ 4 ม.ค.ถูกส่งมาจากแขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา และ แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง วันที่ 6 ม.ค.ส่งมาจาก ซ.ลาซาล 52 เขตบางนา ซึ่งหัวสุนัขรายนี้ พบว่า เป็นสุนัขไม่มีเจ้าของ อยู่ในอู่ซ่อมรถ ซึ่งที่อู่ซ่อมรถดังกล่าวมีสุนัขแม่ลูกอ่อน 3 ครอก รวมแล้วประมาณ 20 ตัว หลังเกิดเหตุพบว่า มีสุนัขมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า เจ้าของอู่ซ่อมรถได้นำไปทิ้งไว้ในวัดแถว จ.สมุทรปราการ แต่ยังไม่มีรายงานว่ามีสุนัขป่วย หรือตายเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการประสานกับกรมปศุสัตว์เพื่อเข้าไปฉีดวัคซีนให้กับสุนัขและแมว รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ในพื้นที่ต่อไป ส่วนหัวหมาอีก 3 หัวที่พบเชื้อส่งมาเมื่อวันที่ 10 และ 12 ม.ค.จากแขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง และ วันที่ 23 ม.ค.ส่งมาจากแขวงบางมด เขตทุ่งครุ
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
โรคพิษสุนัขบ้า มีระยะฟักตัวในคนตั้งแต่ 7 วัน ถึง 2 ปีครึ่ง มากกว่าระยะฟักตัวในสัตว์ และที่น่าห่วง คือ โรคพิษสุนัขบ้าอาจจะระบาดหรือเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากภายหลังเกิดเหตุการณ์อุทกภัย พบว่า มีหมาพลัดหลง เนื่องจากเจ้าของไม่สามารถนำออกมาจากบ้านที่ถูกน้ำท่วมได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า จำนวนหมาจรจัดได้เพิ่มมากขึ้นด้วย จึงควรระวังในการเก็บสุนัขมาเลี้ยง เพราะสุนัขอาจจะไปรับเชื้อจากสุนัขที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าและมีเชื้ออยู่ในน้ำลายได้ ” นพ.พรเทพ กล่าว

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า คนทั่วไปมักมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่า ลูกสุนัขจะไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งไม่เป็นความจริง หากลูกสุนัขคลุกคลีกับสุนัขที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ก็อาจจะรับเชื้อมาได้ เช่นเดียวกัน ล่าสุด ได้รับรายงานจากสำนักงานควบคุมโรคที่ 10 จ.เชียงใหม่ ว่า ได้มีสตรีท่านหนึ่ง บ้านอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ แต่มาปฏิบัติธรรมที่ กทม.ฝั่งธนบุรี และไปฟังเทศน์ที่วัดใหม่เทพนิมิต แถว ซ.ภัคคินีนาถ สะพานกรุงธน เห็นเด็กกำลังพยายามป้อนนมให้ลูกสุนัขพันธุ์บางแก้ว อายุไม่เกิน 7 วัน ที่ยังไม่ลืมตา โดยได้รับทราบจากเด็กว่า แม่ของลูกหมาตัวดังกล่าวตายไปแล้ว จึงมีใจเมตตาเก็บสุนัขใส่ตะกร้ากลับไปเลี้ยง ที่ จ.เชียงใหม่ ในช่วงระยะเวลาประมาณ 20 วัน ลูกสุนัขมีอาการซึม กินอาหารน้อยลง และอีก 2-3 วันต่อมา เริ่มกัดเจ้าของ จึงได้นำลูกสุนัขไปรักษาที่ รพ.สัตว์ใน จ.เชียงใหม่ ต่อมาอีก 4 วัน ลูกสุนัขตายหลังจากมีอาการทางประสาท เดินวน และถ่ายเป็นเลือด รพ.สัตว์ ได้ตัดหัวลูกสุนัขส่งตรวจ พบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จึงได้แจ้งผู้ใหญ่บ้าน อสม.และ รวมทั้งเชิญทั้งเจ้าของสุนัข คนในบ้าน ให้มาฉีดวัคซีน ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตาม เด็กนักเรียน 2 คน ที่นำแมวซึ่งเคยเลี้ยงไว้ในกรงกับลูกสุนัขตัวดังกล่าวมาอุ้มเล่น และไปขอรับการฉีดวัคซีนที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ แต่ถูกปฏิเสธ โดยทางรพ.อ้างว่าเด็กไม่ได้ถูกแมวกัดหรือข่วน ซึ่งกรณีนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอย่างมาก เพราะแม้จะไม่ได้ถูกกัดหรือข่วนแต่หากเคยสัมผัสน้ำลายหรือสารคัดหลั่งของสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าก็อาจจะติดเชื้อได้

สำหรับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าล่าสุด ในปี 2552 มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 24 ราย ปี 2553 15 ราย และ ปี 2554 เสียชีวิต 7 ราย สาเหตุที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงเนื่องจากกรมควบคุมโรคมีการรณรงค์ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เรื่องโรคพิษสนุขบ้า ทำให้ผู้ที่สัมผัสกับสุนัข หรือสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ามารับการฉีดวัคซีนเร็ว จึงลดการเสียชีวิตลงได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานจากสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ว่า พบสุนัขมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ที่ ต.หัวโพธิ์ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ขณะนี้สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 1 กรมปศุสัตว์กำลังอยู่ระหว่างการควบคุมโรค

ด้านนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังรับทราบสถานการณ์ดังกล่าว ว่า เนื่องจากหัวสุนัขที่ส่งมาตรวจและพบเชื้อพิษสุนัขบ้าดังกล่าว ถูกส่งมาจากหลายพื้นที่ในเขต กทม.จึงได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคเร่งประสานกับทางกรุงเทพมหานครในการเข้าไปตรวจสอบ และควบคุมโรคในพื้นที่ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์ในชุมชนใกล้เคียง นอกจากนี้ อาจจะมีการดำเนินการสำรวจ และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ประสบอุทกภัยภายหลังน้ำลดด้วย เพราะได้รับรายงานว่า มีสัตว์พลัดหลงและจรจัดเพิ่มมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น