กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระวังโรคพิษสุนัขบ้า หลังพบต้นปีเสียชีวิตไปแล้ว 2 ราย ย้ำ อย่าประมาทแม้จะถูกลูกสุนัขกัดต้องล้างแผล ใส่ยา แล้วไปหาหมอ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน แนะนำ 5ย ป้องกันการถูกหมากัด “อย่าแหย่ อย่าแยก อย่าเหยียบ อย่าหยิบ อย่ายุ่ง”
วันนี้ (22 พ.ค.) นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สถานการณ์ผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงต้นปี 2554 พบผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย (จังหวัดพัทลุง และจังหวัดอุบลราชธานี) จากจำนวนที่พบอาจจะยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าปี 2553 ที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิต จำนวน 15 ราย ในจำนวนนี้สาเหตุมาจากสุนัขที่มีเจ้าของถึง 10 ราย สุนัขที่ไม่มีเจ้าของ 5 ราย ส่วนข้อสังเกตของผู้เสียชีวิตทั้ง 2 รายในปี 2554 นี้ พบว่า ทั้ง 2 ราย เลี้ยงสุนัขไว้โดยไม่ได้นำไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งเพื่อนบ้านใกล้เคียงส่วนใหญ่เลี้ยงสุนัขไว้โดยไม่ได้นำไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และเมื่อสุนัขตายหลังจากกัดคนแล้วไม่ได้ส่งหัวสัตว์ตรวจวินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้า สุนัขที่กัดเป็นลูกสุนัขอายุ 2-4 เดือน ที่มีเจ้าของ (รายจังหวัดพัทลุงเป็นสุนัขเพื่อนบ้าน รายจังหวัดอุบลราชธานีเป็นสุนัขของตนเอง) และผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย ไม่ได้สนใจที่จะไปพบแพทย์ โดยเฉพาะรายจังหวัดอุบลราชธานี ที่คนในบ้านถูกลูกสุนัขกัด 4 คน และเพื่อนบ้านที่มาเล่นกับสุนัข 4 คน รวม 8 คน ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 7 คน มีผู้ตายคนเดียวที่ไม่ยอมไปรับการฉีดวัคซีน ผู้ป่วยล้างแผลด้วยสบู่และน้ำ 1 ครั้งเท่านั้น ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย ไม่สนใจกับบาดแผลที่ถูกกัดเพราะเห็นเป็นเพียงบาดแผลเล็กน้อยและคิดว่าเป็นสุนัขมีเจ้าของและเป็นลูกสุนัข ไม่น่าจะเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดที่อันตรายมาก
นพ.มานิต กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรคขอเตือนประชาชนที่อยู่บ้านและเล่นกับสุนัขของตนเองหรือออกไปเล่นนอกบ้าน ซึ่งอาจจะไปแหย่หรือเหยียบสุนัขได้ จึงควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมยั่วยุโน้มนำให้สุนัขกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุนัขที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่ทราบประวัติ พร้อมคำแนะนำ 5ย ป้องกันการถูกหมากัด ได้แก่ “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง” มีรายละเอียดดังนี้อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข (หาง, ตัว, ขา) อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงสุนัขควรศึกษาวิธีการเลี้ยงอย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบเลี้ยงแล้วต้องพาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครั้งแรกเมื่อสุนัขอายุ 2-4 เดือน ไม่ปล่อยสุนัขไปในที่สาธารณะตามลำพัง ทุกครั้งที่นำสุนัขออกนอกบ้านต้องอยู่ในสายจูง ควรคุมกำเนิดไม่ให้มีสุนัขมากเกินไปและต้องไม่นำสุนัขไปปล่อยในที่สาธารณะ ที่สำคัญ ไม่ควรให้สุนัขเลียมือ หรือใช้มือล้วงคอช่วยเหลือสุนัข โดยไม่แน่ใจว่ามีอะไรติดคอ หากถูกสุนัขกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง แล้วเช็ดให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน จำสัตว์ที่กัดให้ได้เพื่อสืบหาเจ้าของและสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าติดตามดูอาการสุนัข 10 วัน รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อสุนัขตายลงถ้าประวัติก่อนตาย 10 วัน กัดคนหรือสัตว์อื่น ควรนำไปส่งตรวจโดยประสานกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์พื้นที่ โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคอันตรายมาก
โรคนี้เป็นแล้วตายทุกราย ไม่มียารักษา ป้องกันได้ด้วยการนำสุนัขทุกตัวไปรับการฉีดวัคซีน และลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโดยการหลีกเลี่ยงการถูกสุนัขกัด “เมื่อถูกกัดแล้ว ต้องล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดต่อจนครบ” นพ.มานิต กล่าว