สธ.เตือนประชาชน ระวัง 6 โรคอันตรายหน้าร้อน พบมากสุดคือโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โรคอุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ และโรคพิษสุนัขบ้า 2 เดือนแรกปีนี้ พบผู้ป่วยทั่วประเทศรวมกว่า 2 แสนราย เสียชีวิต 9 ราย ชี้อากาศร้อนทำให้เชื้อโรคเติบโตเร็ว แนะประชาชนระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสุนัขหรือแมว ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เป็นประจำทุกปี
ดร.พรรณสิริ กลุนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศที่ร้อนและแห้งแล้งจะเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอย่างมาก โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ยิ่งพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด ยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ ขอยึดหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันง่ายๆ ได้แก่ กินร้อน คือกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หากยังไม่กิน ต้องเก็บในตู้เย็นและอุ่นให้ร้อนก่อนกิน ใช้ช้อนกลางในการกินอาหารร่วมกัน ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม และดื่มน้ำที่สะอาดเช่นน้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อย. หรือน้ำต้มสุก
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค ออกประกาศเตือนประชาชนป้องกันโรคที่เกิดในฤดูร้อนที่พบได้บ่อยทุกปีมี 6 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง (Acute Diarrhea) โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) บิด (Dysentery) ไทฟอยด์ (Typhoid) อหิวาตกโรค (Cholera) และโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ประชาชนทั่วประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย 2.ให้เฝ้าระวังความสะอาดอาหาร น้ำดื่ม น้ำประปา ตลาดสด และส้วมสาธารณะอย่างเข้มงวด และ 3.ให้ติดตามสถานการณ์การป่วยของประชาชนอย่างใกล้ชิด หากมีรายงานผู้ป่วยโรคดังกล่าว ให้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วที่มีกว่า 1,200 ทีมทั่วประเทศ ออกสอบสวนควบคุมโรคทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาด
ด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคติดต่อสำคัญที่มักเกิดในฤดูร้อนประกอบด้วย โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ 5 โรค ได้แก่ อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอยด์ ในปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึง 28 กุมภาพันธ์ 2554 พบผู้ป่วยรวม 227,968 ราย เสียชีวิต 9 ราย ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 90 เกิดจากโรคอุจจาระร่วง การติดต่อโรคดังกล่าวเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่เชื้อมีปนเปื้อน เช่น อาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม หรืออาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ อาหารค้างคืน อาการส่วนใหญ่ของผู้ป่วย มักถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือมีมูกเลือดปน ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน
นายแพทย์มานิตกล่าวต่อว่า ในการดูแลผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง ในระยะแรกควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมากๆ อาทิ น้ำข้าว น้ำแกงจืด และดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่หรือที่เรียกว่าโอ อาร์ เอส โดยใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ 1 ซองผสมกับน้ำต้มสุกเย็น 1 แก้ว หากไม่มีผงน้ำตาลเกลือแร่ ให้ใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ กับเกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายกับน้ำต้มสุกเย็น 1 ขวดน้ำปลากลม ในดื่มแทนผงน้ำตาลเกลือแร่ได้เช่นกัน ประการสำคัญหลังผสมแล้ว จะต้องดื่มให้หมดภายใน 1 วัน และถ้าอาการไม่ดีขึ้น ยังไม่หยุดถ่ายเหลว ให้รีบไปพบแพทย์
ส่วนโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์สู่คน ไม่มียารักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย โรคนี้พบได้ตลอดปี แต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงในช่วงหน้าร้อน ปี 2553 พบผู้ป่วยทั้งหมด 14 ราย เสียชีวิตทุกราย ซึ่งร้อยละ 95 ของผู้เสียชีวิตเกิดจากถูกสุนัขบ้ากัด ในปีนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย โรคดังกล่าวติดต่อจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีแผลอยู่แล้ว หรือน้ำลายของสัตว์กระเด็นเข้าตา ปาก จมูก หลังจากที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะมีระยะฟักตัวและปรากฏอาการประมาณ 3 สัปดาห์จนถึง 4 เดือน บางรายอาจเร็วเพียง 4 วัน หรืออาจนานเกิน 1 ปี ซึ่งอาการจะปรากฏช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่เข้าไปเช่น หากถูกกัดบาดแผลใหญ่ ลึก ทำให้เชื้อเข้าไปได้มาก และขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เชื้อเข้า ถ้ามีปลายประสาทมากจะอันตราย เพราะเชื้อมีโอกาสเข้าสู่ระบบประสาท ถ้าอยู่ใกล้สมองมาก เชื้อจะเดินทางไปถึงสมองได้เร็ว ระยะฟักตัวจะสั้น
นายแพทย์มานิตกล่าวอีกว่า สุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า แสดงอาการได้ 2 แบบคือแบบดุร้าย นิสัยของสัตว์ผิดไปจากเดิม ตื่นเต้น ตกใจง่าย กระวนกระวาย กัดทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า ไวต่อแสงและเสียง ต่อมาเป็นอัมพาต หลังแข็ง หางตก ลิ้นห้อย กลืนไม่ได้ ขากรรไกรแข็ง ชักและตายภายใน 10 วันหลังแสดงอาการ และแบบซึม บางตัวมีอาการคล้ายมีก้าง กระดูกติดคอ ทำให้เจ้าของเข้าใจผิดและเอามือไปล้วงที่ปาก
ทั้งนี้ วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุดก็คือ ให้นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละครั้ง เริ่มฉีดเมื่ออายุ 2-4 เดือน และระวังบุตรหลานไม่ให้เล่นกับสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หากถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด หรือข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง เช็ดให้แห้ง แล้วใส่ยารักษาแผลสด เช่น โพรวิโดนไอโอดีน และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง