อากาศอภิมหาร้อนแบบนี้ ไม่ได้มีแต่เราเท่านั้นที่รู้สึกร้อนจนเพลียต้องนอนแผ่ แต่เหล่าสัตว์เลี้ยงตัวโปรดทั้งหลายของเราก็รู้สึกร้อนแทบแย่ไม่แตกต่างกัน จนพาลป่วย ไม่สบาย ซึมเซากันเสียดื้อๆ ทีมสัตวแพทย์ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ เลยอยากให้คำแนะนำดีๆ กับบรรดาคนรักสัตว์ทั้งหลายว่าจะรับมือกับปัญหาการดูแลสัตว์เลี้ยงในวันร้อนแรงแดดเปรี้ยงนี้กันอย่างไรดี ?
ร้อนเมื่อไหร่ สัตว์เลี้ยงได้โรค
คนอย่างเราเจออากาศร้อนเปรี้ยงๆ ยังทนแทบไม่ได้ถึงขั้นอาจล้มหมอนนอนเสื่อ แล้ว นับประสาอะไรกับสัตว์เลี้ยงของเราอย่างน้องหมา น้องแมว ที่มีขนปกคลุมเพิ่มความร้อนให้สูงปี๊ดขึ้นไปอีกจนต้องขอเป็นลมตามเจ้านายไปติดๆ ซึ่งก็มีอยู่ 3 โรค ได้แก่ โรคลมแดด โรคพิษสุนัขบ้า และโรคท้องเสีย ที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยๆกับสัตว์เลี้ยงของเรายามอากาศร้อนมาเยือน
โรคลมแดด หรือฮีทสโตรก เป็นโรคสัตว์เลี้ยงที่พบได้มากเมื่อถึงหน้าร้อน ในวันที่แดดจัดอุณหภูมิพุ่งสูง มีความชื้นในบรรยากาศมาก ภาวะนี้เกิดจากการที่สัตว์เลี้ยงระบายความร้อนออกจากร่างกายไม่ทัน การพาความร้อนออกไปก็จะทำได้ไม่ดีโดย เฉพาะสุนัขที่ไม่มีต่อมเหงื่อ เลยต้องนำพาความร้อนออกมาผ่านการหายใจทางปาก เป็นไอร้อนออกมา อย่างที่เราจะเห็นได้ว่าสุนัขมักจะหอบแฮ่กๆ ลิ้นห้อย อยู่ตลอดเวลาก็เพราะต้องการระบายความร้อนออกจากร่างกายนั่นเอง
อาการเริ่มแรกเมื่อเป็นโรคลมแดดคือ อุณหภูมิร่างกายจะขึ้นสูงมากแบบฉับพลัน คล้ายคนเป็นลม ถึงขั้นไม่มีแรง ต้องนอนแผ่ เผลอๆสัตว์เลี้ยงบางตัวอาจเกิดหมดสติ ในสัตว์บางตัวพอหมดสติ ตัวจะเย็นชืด เจ้าของก็มักเข้าใจผิดว่าเขาหายแล้วแต่ไม่ใช่ ความจริงอาการตัวเย็นนี้คือเขานั้นมีอาการแย่ลงกว่าเดิม
เบื้องต้นที่เจ้าของจะช่วยเขาได้ คือให้ใช้ผ้าชุบน้ำห่อตัวเค้าไว้ หรือว่าเอาน้ำธรรมดาราด เอาพัดลมเป่า แต่ไม่แนะนำให้ใช้น้ำแข็ง เพราะว่าเส้นเลือดตามผิวหนังข้างบนจะหดตัว เหมือน
เวลาเราขนลุก การพาความร้อนในสัตว์เลี้ยงก็จะยิ่งแย่ลง เสร็จแล้วนำส่งสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด เนื่องจากจะมีภาวะตามมาหลังจากเป็นโรคลมแดดอีกมาก คุณหมอจะได้ประเมินภาวะและให้ยาป้องกันได้ทันท่วงที เพราะเมื่ออุณหภูมิในร่างกายขึ้นสูงมากๆ ระบบภายในก็จะล้มเหลว โดยเฉพาะกับระบบเลือด
วิธีการป้องกันเหล่าลูกรักของเราให้ห่างไกลจากโรคลมแดดก็มีหลักง่ายๆคือ ไม่ให้สุนัขอยู่ในที่ที่เสี่ยงต่อการระบายความร้อนไม่ได้ อย่างบางคนไปซื้อของในห้าง ก็มักจะขังสัตว์เลี้ยงไว้ในรถ ที่อากาศค่อนข้างจำกัด ไม่ถ่ายเท อันนี้ไม่ได้เลยแค่แป๊ปเดียวสัตว์เลี้ยงของคุณได้ขึ้นอืดแน่ๆ และในวันที่อากาศร้อนชื้นอย่างวันฝนตก การระบายความร้อนของบรรดาสัตว์เลี้ยงจะยิ่งแย่เข้าไปอีก จึงควรจะต้องเปิดหน้าต่าง เปิดพัดลมให้เขาด้วย หรือวางน้ำเย็นน้ำแข็งให้เขากินคลายร้อน
บางครั้งเจ้าของกลัวสัตว์เลี้ยงจะร้อน เลยพาเข้าร้านทำผมอย่างสุนัขหลายสายพันธุ์ที่มีขนยาว ก็ให้ตัดขนแบบพอประมาณพอเหมาะ อย่างโกนเรียบจนเกรียนโล่ง และสุดท้ายการออกกำลังกายก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้อ้วนเกินไป เพราะถ้าอ้วนก็จะเสี่ยงต่อภาวะการเป็นฮีทสโตรกมากขึ้น เพราะการระบายความร้อนจากหลอดลมจะทำได้ไม่ดี จะหอบอยู่ตลอดเวลาและเมื่อหอบมากๆบางตัวก็จะระบายความร้อนออกมาไม่ทัน
โรคพิษสุนัขบ้า หรือเรียกอีกอย่างว่า โรคกลัวน้ำ ต้องเข้าใจก่อนว่า โรคนี้สามารถเป็นได้ทุกหน้า ไม่เฉพาะแต่หน้าร้อนเท่านั้น เนื่องจากเป็นโรคติดเชื้อจากเชื้อไวรัสเรบีส์ แต่เหตุที่โรคพิษสุนัขบ้าเป็นกันมากในหน้าร้อน เพราะอุณหภูมิมิอุ่นสบายและมีความชื้นที่เหมาะสมพอดีทำให้ไวรัสสามารถเติบโตได้มากกว่าปกตินั่นเอง โดยโรคพิษสุนัขบ้าจะติดต่อกันทางสารคัดหลั่งเช่น เลือดและน้ำลาย จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เน้นว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ทั้ง กระต่าย แมว หนู ค้างคาว ไม่ใช่แค่ในสุนัขอย่างเดียว
บางครั้งเจ้าของสัตว์เลี้ยงมักจะคิดว่า เราเลี้ยงเขาในบ้านไม่น่าจะเป็นโรคหรอก ไม่ต้องพาไปฉีดวัคซีน แต่อย่าลืมว่าในบ้านมีสัตว์อย่างหนู ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อยู่ร่วมชายคาด้วยและมันก็อาจเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้านี้มายังสัตว์เลี้ยงและคนได้ สำหรับการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนตั้งแต่อายุ 3 เดือน ต่อจากนั้นก็เป็นการฉีดวัคซีนประจำปี ป้องกันไว้เพราะโรคพิษสุนัขบ้าไม่มีทางรักษาให้หายได้
เมื่อเราโดนสุนัขกัด หรือแมวข่วนจนเลือดออก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่เราไม่รู้ประวัติ หรือถึงแม้จะเป็นสัตว์เลี้ยงของเราเองก็ตาม สิ่งแรกที่ควรทำคือไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักแต่เนิ่นๆก่อน เพื่อความปลอดภัย เพราะในคนถ้าได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า อาการจะแสดงออกมาช้ามาก กว่าจะรู้ตัวไวรัสก็อาจเข้าไปทำลายระบบประสาทแล้ว ซึ่งถ้าเชื้อขึ้นไปในสมองแล้ว ก็เตรียมตัวเตรียมใจได้เลยเพราะไม่มีทางรักษาได้อีกแล้ว ส่วนใครที่ยังไม่แน่ใจว่าจะติดเชื้อพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ก็อาจจะขังสัตว์เลี้ยงไว้ แล้วสังเกตอาการ ถ้าภายใน 7-10 วัน สัตว์เลี้ยงมีอาการเปลี่ยนไป กล้ามเนื้ออัมพาต ควบคุมระบบประสาทไม่ได้ เช่นเดินเลี้ยวไม่ได้ เดินตรงได้อย่างเดียว หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้น มีอาการชัก สัตว์เลี้ยงนั้นก็น่าจะมีความเสี่ยงเป็นโรคพิษสุนัขบ้าอยู่มากทีเดียว ซึ่งถ้าเสียชีวิตลงสามารถส่งไปสถานเสาวภาเพื่อชันสูตรได้
ปัจจุบันยังโรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษา เมื่อคิดว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ก็ให้ไปฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งสำหรับคนภายใน 7 วัน ค่อยฉีดวัคซีนยังถือว่าทัน (แต่ไม่แนะนำ) ยกเว้นเสียแต่ว่า จะโดนกัดบริเวณเส้นประสาท ใบหน้า หรือใกล้สมอง ให้รีบไปฉีดยากันไว้ก่อนโดยด่วน รอไม่ได้ เพราะหากปล่อยจนไวรัสเดินทางถึงสมองและแสดงอาการออกมา ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย ดังนั้นก็เตือนใจไว้เลยว่ากันไว้ดีกว่าแก้
โรคสุดท้ายนี้เป็นโรคที่เจ้าของมักจะหลงลืมกัน แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยๆกับสัตว์เลี้ยงในหน้าร้อนคือ โรคท้องเสีย ซึ่งเกิดจากอาหารที่ไม่สะอาด และยิ่งในหน้าร้อน เชื้อแบคทีเรียยิ่งเติบโตได้เร็ว อาหารก็จะบูดเน่า เสียง่าย บางบ้านมักจะวางอาหารทิ้งไว้ให้สัตว์เลี้ยงมากินได้ตลอด ไม่ได้แบ่งให้เป็นมื้อ ดังนั้นเมื่อวางค้างไว้หลายชั่วโมงก็จะทำให้อาหารบูดโดยเฉพาะกับข้าวหุงสุก เมื่อสัตว์เลี้ยงรับประทานเข้าไปก็อาจทำให้ท้องเสีย ถ่ายเหลวตลอดเวลา บางตัวก็อาเจียนร่วมด้วย และอาจถึงขั้นช็อคเสียชีวิตจากการเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายในปริมาณมาก
ดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างไร ในหน้าร้อน
สัตว์เลี้ยงก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องได้รับการดูแล เอาใจใส่ เช่นเดียวกันเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง อย่างเรื่องง่ายๆคือ การดูแลสุขอนามัยทั่วไป แปรงฟัน อาบน้ำ ตัดเล็บ ต่อมก้น ก็ควรต้องดูแลเขาให้สะอาดเอี่ยมอยู่เสมอ และการดูแลสุขภาพและร่างกายที่ควรต้องทำเป็นประจำคือ การพาสัตว์เลี้ยงตัวโปรดไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ทั้งโรคพิษสุนัขบ้า หรือวัคซีนทางเลือกป้องกันโรคอื่นๆ เช่น พยาธิหนอนหัวใจ และควรได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี รวมถึงการถ่ายพยาธิ การป้องกันเห็บหมัดที่อาจนำเชื้อโรคเข้าสู่สัตว์เลี้ยงได้
ในหน้าร้อนอากาศอบอ้าว การดูแลสัตว์เลี้ยงก็ไม่ได้ยุ่งยากมากมายไปจากปกติสักเท่าไหร่ เพียงแค่ต้องหมั่นใส่ใจในเรื่องของอาหารที่ควรแบ่งให้เป็นมื้อๆ เพื่อป้องกันการบูดเน่าเสียของอาหาร ต้องมีน้ำดื่มให้เพียงพอ และสะอาดอยู่เสมอ และสุดท้ายคืออย่างลืมว่าเขาก็เหมือนกับเราที่ไม่อยากออกไปวิ่งเล่นในวันที่แดดจัด อากาศร้อน ก็ขอให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแดด รอไว้ตอนแดดร่ม ลมตก ค่อยมาทำกิจกรรมออกกำลังจะดีกว่า
สุดท้ายทีมสัตวแพทย์โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ก็ได้ฝากทิ้งท้ายสำหรับบรรดาเจ้าของสัตว์เลี้ยงแสนรักทั้งหลายไว้ว่า“การป้องกันดีว่าการรักษา ยิ่งดูแลใส่ใจมากเท่าไหร่ โอกาสที่เขาจะเจ็บป่วยก็ลดน้อยลง”
>>>>>>>>>>>>>>>>>
** โปรแกรม 7 Things จากโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ เพื่อสัตว์เลี้ยงตัวโปรด**
1.ฉีดวัคซีนป้องกันโรค (พิษสุนัขบ้า ไข้หัด ลำไส้อักเสบ ตับอักเสบ ฉี่หนู และหวัดติดต่อ)
2.ป้องกันเห็บและหมัด
3.ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ
4.เช็ดทำความสะอาดใบหู
5.ตัดแต่งเล็บ
6.แปรงฟัน
7.บีบต่อมก้น