นักเรียนไทยนิยมเลือกเรียนภาษาบาฮาซา ประเทศมาเลเซีย เป็นภาษาที่ 2 เพิ่มขึ้น เลขาธิการ กพฐ.ชี้ เห็นโอกาสในการได้ใช้จริงในการทำงานเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 2558 ในส่วนของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ถ้าพูดถึงเรื่องภาษาแน่นอนว่าภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่นักเรียนต้องรู้อยู่แล้ว เพราะชาติสมาชิกอาเซียนกำหนดให้เป็นภาษาราชการ ดังนั้น ความคืบหน้าจึงอยู่ที่ภาษาต่างประเทศที่ 2 มากกว่า ซึ่งขณะนี้โรงเรียนสังกัด สพฐ.หลายโรงล้ำหน้าไปนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี รวมถึงภาษาเพื่อนบ้านอย่างภาษาพม่า ลาว กัมพูชา โดยเฉพาะภาษาบาฮาซา ของประเทศมาเลเซีย
สำหรับภาษาบาฮาซานั้น มีรายงานมาว่า ตัวเลขนักเรียนที่ให้ความสนใจเรียนเพิ่มมากขึ้น เพราะเล็งเห็นถึงโอกาสในการใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง เนื่องจากประชากรในกลุ่มชาติสมาชิกอาเซียนนอกจากประชาชนประเทศมาเลเซียแล้ว ยังมีประเทศอินโดนีเซีย และประเทศเนการาบรูไนดารุสซาลาม ที่ใช้ภาษาบาฮาซา ในการสื่อสารด้วย แม้ว่าจะไม่ใช้ครอบคลุมทั้งประเทศ แต่สามารถใช้สื่อสารในวงกว้างเวลาทำงานได้
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า ส่วนข้อกังวลที่ว่าโรงเรียนส่วนใหญ่เตรียมความพร้อมแค่ติดธงชาติสมาชิกอาเซียน สอนร้องเพลงอาเซียน หรือจัดห้องสมุดอาเซียนนั้น ยืนยันว่า รายละเอียดสาระต่างๆ มีมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษาที่กล่าวถึงไปแล้ว หรือด้านการเตรียมด้านวิชาการ ตลอดจนด้านโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างโรงเรียน ซึ่งด้านการแลกเปลี่ยนนี้ สพฐ.ได้ทำเป็นตัวอย่างแล้ว คือ โรงเรียนซิสเตอร์ สคูล (Sister school) ที่เน้นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ บวกภาษาอาเซียนอีก 1 ภาษา จาก 9 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เนการาบรูไนดารุสซาลาม ลาว พม่า กัมพูชา และ มาเลเซีย และโรงเรียนบัฟเฟอร์ สคูล buffer School ซึ่งเน้นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ บวกภาษาประเทศอาเซียนที่มีชายแดนติดกับที่ตั้งของโรงเรียน ฉะนั้นโดยรวมแล้วการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจึงมีความคืบหน้า และดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา