xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.วอนรัฐไม่เอาน้ำเมา-บุหรี่ เข้า FTA ไทย-อียู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายภาคประชาชนออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐไม่เอาน้ำเมา-บุหรี่ เข้าเจรจา FTA ไทย-อียู เหตุเป็นสินค้าอันตราย พบเหล้าก่อปัญหาสุขภาพร้ายแรงกว่ายาเสพติด 30 เท่า เป็นเหตุก่ออาชญากรรมหลังดื่ม 69 คดีต่อวัน ลั่นจับตาการเคลื่อนไหวกลุ่มอุตสาหกรรมสุราข้ามชาติ

วันที่ 25 ก.ค.2555 ที่โรงแรมริชมอนด์ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) จัดเวทีอภิปราย “ผลกระทบและทางออก : FTA THAI-EU กรณีเหล้า บุหรี่” โดยมีภาคีเครือข่ายงดเหล้าทั่วประเทศ เครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพฯ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เข้าร่วม

นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา จะเห็นว่า การเจรจาการค้าจะมีมิติด้านเดียวคือ ด้านตัวเงินกับตัวเงินเท่านั้น ไม่ได้มองด้านสุขภาพและสังคม และไม่ได้มองว่าสินค้าไม่ธรรมดาอย่างสุรา และยาสูบนั้น เป็นการทำลายความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจด้วยซ้ำ ไม่มีสินค้าใดในท้องตลาดอีกแล้วที่สามารถ ฆ่าคนได้มากเหมือนเหล้าและบุหรี่ สินค้าสองตัวนี้ฆ่าคนไทยปีละกว่าหกหมื่นคน แต่บนโต๊ะเจรจากลับมองสินค้าทั้งสองไม่ต่างจากสินค้าอื่นๆ สุราก่อปัญหาสุขภาพ ตาย เจ็บ พิการ ถึง 30 เท่าของความเสียหายจากยาเสพติดทุกชนิดรวมกัน สังคมไทยเต็มไปด้วยอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับสุรา ทั้งการทำร้ายร่างกาย ชีวิต คดีทางเพศ ซึ่งประมาณได้ว่ามีจำนวนคดีที่ก่อเหตุหลังดื่มสุรามากถึง 25,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 69 คดี
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลเหล่านี้ ยืนยันได้ว่า สุราและบุหรี่ไม่ใช่สินค้าธรรมดาที่รัฐควรส่งเสริมให้บริโภค ผ่านการยอมให้อยู่บนโต๊ะเจรจา หากจริงใจในการปกป้องสังคมไทย รัฐบาลต้องมีจุดยืนที่เข้มแข็งชัดเจน ให้คู่เจรจารับทราบ ควบคู่ไปกับการพัฒนามาตรการภายในให้เข้มแข็ง โดยเน้นมาตรการที่ได้ผลและคุ้มค่า สร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมไทย ด้วยเรื่องภาษี ควบคุมการเข้าถึง และการตลาดสุรา” นพ.ทักษพล กล่าว

ดร.ทพญ.ศิริวรรณ ทิพยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า จากผลกระทบที่จะตามมาในเรื่องของการเจรจาการค้าเสรีประเภทบุหรี่ คือ 1.มีผลกระทบด้านราคา รูปแบบการผลิต การส่งเสริมการขายด้วยการสร้างภาพลักษณ์ เกิดการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น มีผลกระทบด้านสุขภาพ 2.เยาวชนเข้าถึงบุหรี่ได้ง่ายทำให้มีการติดเหล้าและบุหรี่เพิ่มขึ้น เห็นได้ว่าหลังจากเจรจากับอาฟต้า อัตราการสูบบุหรี่ของไทย ปี 2554 เพิ่มขึ้น กว่า 600,000 ราย ภายในระยะเวลาแค่สองปี โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น 15-18 ปี สาเหตุหลักก็เพราะมีบุหรี่นอกราคาถูกเข้ามาในตลาดไทยและทำให้บุหรี่ภายในประเทศลดราคาลงมาสู้

การปรับปรุงโครงสร้างภาษีบุหรี่ต้องเหมาะสมกับทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงชี้ให้เห็นถึงผลกระทบและข้อเสียของการเปิดการค้าเสรี ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงมากที่สุด” ดร.ทพญ.ศิริวรรณ กล่าว

ด้านนายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ วอชท์) กล่าวว่า ที่เราต้องออกมาผลักดันเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลยังมองไม่เห็นปัญหาผลดีผลเสียที่จะตามมาจากการเจรจาการค้าเสรี เช่น การสูญเสียโอกาสทั้งระยะสั้นและระยะยาว เกิดการผูกขาดสินค้ามีการนำเข้ามาจำหน่ายได้ง่าย ดังนั้น จึงอยากให้คณะรัฐมนตรีและฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาเพื่อตัดสินใจ และศึกษาถึงผลกระทบให้รอบด้านและมีท่าทีที่ชัดเจนไม่นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเจรจาการค้าเสรี ส่วนเรื่องที่มีการอ้างว่าหากไม่เจรจาการค้าเสรี จะทำให้เกิดการตัดสิทธิสินค้าอื่นๆ นั้น ตนมองว่า รัฐบาลสามารถใช้วิธีอื่นได้เช่น การทำวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ การจัดการระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยที่ไม่ต้องไปแลกกับปัญหาที่ตามมา

ทั้งนี้ จากการประชุม เครือข่ายภาคประชาชนได้มีข้อเสนอและออกเป็นแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อแสดงจุดยืนและเรียกร้องผ่านไปยังรัฐบาล ดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลยึดมติคณะรัฐมนตรีที่รับรองมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยเรื่องการถอนรายการสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ออกจากการเจรจาการค้าเสรี 2.การทำสัญญาการค้าที่ผ่านมาของรัฐบาล ถือว่ากระทำไปด้วยข้อมูลผลกระทบที่ไม่ชัดเจน แต่ในเวลานี้ มีหลักฐานความสูญที่เกิดจากบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นรูปธรรมแล้ว จึงควรพิจารณาแก้ไขไม่นำเอาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เข้าเจรจาอีก 3.ทางเครือข่ายจะเดินหน้าให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วประเทศ และจับตาการเคลื่อนไหวของกลุ่มอุตสาหกรรมสุราข้ามชาติ รวมทั้งจะขอมีส่วนร่วมในการจัดรับฟังความคิดเห็นกรอบการเจรจาการค้า ที่ให้สิทธิประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 4. ขอเรียกร้องให้ประชาชน รัฐบาล และองค์กรเอ็นจีโอของสหภาพยุโรป ที่ตระหนักในปัญหาผลกระทบดังกล่าว ร่วมกันหยุดยั้งและต่อต้านกลุ่มบริษัทผู้ผลิตเหล้าและบุหรี่ ที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากการเจรจาครั้งนี้ ทั้งนี้ เครือข่ายไม่ได้มีเจตนาต่อต้านการเจรจาการค้าเสรี แต่ต้องการต่อต้านสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและขัดต่อศีลธรรม ที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์กับประเทศสมาชิกในอาเซียน
กำลังโหลดความคิดเห็น