xs
xsm
sm
md
lg

สมศ.แนะยกคุณภาพ ร.ร.ขนาดเล็กจับมือสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาบุคลากร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมศ.แนะแนวทางยกระดับคุณภาพ ร.ร.ขนาดเล็ก ประสานสถาบันอุดมศึกษาเพื่อหาครูอาสาหรือสร้างเครือข่ายจัดค่ายพัฒนาครู พร้อมทั้งให้เน้นใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบุคคลในชุมชนเผยแพร่ความรู้

ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ.เปิดเผยถึงข้อเสนอแนะต่อสถานศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน ในส่วนของโรงเรียนขนาดเล็ก ภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบประเมินคุณภาพภายนอก รอบที่ 3 พ.ศ.2554-2558 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า จากการประเมินคุณภาพภายนอกโดยจำแนกสถานศึกษาตามขนาด เพื่อหาระดับคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษ พบว่า สถานศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ เป็นกลุ่มที่มีผลประเมินอยู่ในระดับคุณภาพดีมากสูงที่สุด ร้อยละ 16.29 รองลงมา คือ สถานศึกษาขนาดเล็ก ร้อยละ 4.01 และสถานศึกษาขนาดกลาง ร้อยละ 3.39 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้โรงเรียนขนาดเล็กจะได้รับการประเมินคุณภาพดีมาก ร้อยละ 4.01 หรือ 193 โรงจากจำนวนที่ได้รับการประเมิน 4,816 แห่ง แต่ในภาพรวมก็เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการรับรองมากสุด คิดเป็นร้อยละ 32.12 หรือ 1,547 โรง

“ปัญหาดังกล่าวเกิดจากภูมิหลังของนักเรียน บางกลุ่มไม่ได้อยู่กับพ่อแม่เพราะทำงานอยู่อีกพื้นที่ ต้องอยู่กับปู่ ย่า ตา ยา บางกลุ่มฐานะยากจน บางกลุ่มย้ายถิ่นฐานตามพ่อแม่ และบางกลุ่มไม่ได้พูดภาษาไทย เมื่อสอบวัดผลจึงกระทบต่อคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการประเมินของ สมศ.ในตัวบ่งชี้ที่ 5 เรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจโรงเรียนขนาดเล็กมาก นอกจากนี้ยังพบว่าโรงเรียนขนาดเล็กยังมีครูไม่ครบชั้น เฉพาะที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขาดอยู่กว่า 10,000 คน และส่วนใหญ่ก็สอนไม่ตรงสาขาที่เรียนมา รวมถึงทำเรื่องขอย้ายไปอยู่พื้นที่อื่นตลอดเวลา ดังนั้น สมศ.จึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น ประสานสถาบันอุดมศึกษาขอนิสิต นักศึกษา มาเป็นครูอาสา หรือสร้างเครือข่ายโดยเน้นจัดค่ายพัฒนาครู นักเรียน และให้คนในชุมชนที่มีองค์ความรู้ท้องถิ่น เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ของนักเรียนมาสอนในวิชาที่ตนเองมีความรู้ อาทิ หัตถกรรม หรือดนตรีพื้นบ้าน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาการขาดครูได้ พร้อมกันนี้ ควรนำหลัก “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน กลับมาใช้ เพื่อสร้างศรัทธาให้ครู เมื่อชาวบ้านศรัทธาก็จะนำลูกหลานมาเรียน และช่วยระดมทุนพัฒนาโรงเรียน ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหางบประมาณรายหัวที่ไม่เพียงพอนำมาบริหารจัดการได้” ผอ.สมศ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น