xs
xsm
sm
md
lg

จุดยืน สมศ. : จุดแข็งและจุดอ่อน เกณฑ์ประเมินรอบสาม ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

หากจะกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมาว่า การศึกษาไทยเดินทางมาถึงยุคต้องตรวจสอบ “ความโปร่งใส” ในอาชีพกันแล้ว ดูเสมือนว่า เป็นคำกล่าวที่แรงเกินไป เสียงสะท้อนจากพื้นที่ (โรงเรียน) ที่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม ปีงบประมาณ 2554 ที่ผ่านพ้นมีคำบ่น คำตัดพ้อ และความเครียดแทรกซึมไปทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษา โดยเฉพาะภาคใต้ใน 5 จังหวัดที่ผู้เขียนมีโอกาสลงพื้นที่เยี่ยมเยียนสถานศึกษาต่างๆ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

จุดแข็งของเกณฑ์ สมศ.ถ้ามองผิวเผินเกณฑ์การประเมินรอบสาม (ข้อมูลย้อนหลังสามปี) ดูเข้มแข็ง ดุดัน และแรง สิ่งนี้นับว่าเป็นจุดแข็งของเกณฑ์รอบสาม ที่ สมศ. บังคับใช้ประเมิน ไม่ว่าจะเป็นตัวบ่งชี้ด้านผลการประเมินคุณภาพภายในจากต้นสังกัด (ที่ต้นสังกัดต้องดูแลสถานศึกษาอย่างจริงจังสักที) ตัวบ่งชี้ด้านอัตลักษณ์และตัวบ่งชี้ด้านมาตรการส่งเสริม ซึ่งนับว่าเกณฑ์ที่มีความโดดเด่นที่ช่วยให้เกิดการกระตุ้นและตรวจสอบระหว่างกันในหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาเอง ต้นสังกัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จุดอ่อนของเกณฑ์ สมศ. ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า เกณฑ์การประเมินที่มีน้ำหนักมาก อย่างตัวบ่งชี้ด้านคะแนนโอเน็ต (O-Net) ที่สมศ. ส่อที่จะพยายามปรับลดเกณฑ์ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะหากคุณภาพทางปัญญาของเยาวชนในชาติลด ทั้งที่เวลาในการจัดการเรียนการสอนมาก ย่อมบ่งบอกได้หลายปัจจัยที่ควรทบทวน เช่น ข้อสอบโอเน็ตที่ไม่สะท้อนผลการจัดการศึกษา หรือการจัดการศึกษาได้คุณภาพไม่เข้มข้น เป็นต้น รวมทั้งตัวบ่งชี้อื่นๆ ที่รับการประเมินยังไม่สะท้อนสภาพจริง เช่น ผลการบริหารจัดการสถานศึกษาที่การบริหารยังอยู่ในลักษณะสั่งการ บังคับ และใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล เลือกคนมากกว่าเลือกผลงานซึ่งเป็นระบบธรรมาภิบาลในกระดาษ แต่ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เป็นต้น ควรได้ทบทวนกระบวนการประเมินกันอย่างเข้มข้น เพื่อสะท้อนสภาพจริง

จุดยืนที่ สมศ. ประกาศยืนกราน ถึงหลักการ หลักเกณฑ์ และมาตรฐานของการประเมินคุณภาพภายนอก รอบสาม ผู้เขียนคิดว่า สมศ.ควรทบทวนและรักษามาตรฐานตัวบ่งชี้และน้ำหนักการประเมิน บางรายการที่มีผลกระทบต่อคุณภาพ “สติปัญญาของคน” มากกว่าการเลื่อนไหลตามกระแสแห่งความตกต่ำทางสังคม เพราะว่าการได้มาซึ่งข้อมูลและสภาพจริงของผลการจัดการศึกษาในประเทศไทย โดย สมศ.นั้นยังไม่อาจสะท้อนสภาพจริงของการศึกษาได้หมด เพียงแต่ยังดีกว่าที่ผู้ดูแลรับผิดชอบการศึกษาของประเทศ จะไม่มีผลงานอะไรที่เป็นตัวเลขออกมาแสดงต่อประชาชนเพื่อเห็นว่า มีผลงานอะไรบ้างที่ทำอยู่

จุดยืนของ สมศ.จึงอยู่ระหว่างจุดแข็งและจุดอ่อนของเกณฑ์การประเมินที่ผู้ประเมินใช้อย่างมีศาสตร์และศิลปะ โดยมองเห็นคุณค่าและผลกระทบอย่างใหญ่หลวงของผู้ได้รับการศึกษาทั้งหมดในประเทศนี้ ซึ่งหนีไม่พ้นที่จะรับผิดชอบร่วมกัน ตั้งแต่ กระทรวงฯ สมศ. ยันสถานศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น