xs
xsm
sm
md
lg

เล็งแก้กฎหมายออกตั๋วครู เปิดช่องคนเก่งมาสอนหนังสือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สุชาติ” โยนบอร์ดปรับแก้ พ.ร.บ.สภาครูฯ เปิดช่องคนเก่งที่จบสาขาอื่น ให้ได้รับตั๋วครูมาสอนหนังสือได้ โดยต้องไม่เสียเวลาเรียนเพิ่ม ด้าน ศ.ดร.มนตรี เสนอแก้ กม.มาตรา 44 (ก) (3) เพียงเปลี่ยน “และ” เป็น “หรือ” เลขาธิการ สกศ.แนะจัดสรรทุนเหมือนแพทย์ จบแล้วบังคับเป็นครู 5-10 ปี พร้อมเพิ่มเงินเดือนให้สูงขึ้น

วันนี้ (28 มิ.ย.) ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็น เรื่องแนวทางการได้มาซึ่งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูสำหรับผู้ที่ไม่จบปริญญาด้านการศึกษา โดย นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ตนขอให้ที่ประชุมไปดูรายละเอียดการปรับแก้พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2546 มาตรา 44 (ก)(3) ที่กำหนดคุณสมบัติ ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพควบคุมต้องผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี และผ่านเกณฑ์การประเมินตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามที่คุรุสภากำหนด เพื่อเปิดช่องให้ผู้ที่จบในสาขาวิชาชีพอื่น เช่น วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ที่มีความรู้สามารถมาเป็นครูได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเสียเวลาเรียนปริญญาด้านการศึกษาอีก 1 ปี

นายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาธิการ สกศ.) กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนครูโดยเฉพาะในสาขาวิชาขาดแคลน ซึ่งส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจาก พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 กำหนดให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพควบคุมที่จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ดังนั้น นายสุชาติ จึงเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 เพื่อเปิดโอกาสให้คนดี คนเก่ง ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาประกอบวิชาชีพครูได้ โดยเฉพาะการเพิ่มความเป็นวรรคสองของมาตรา 44 (ก) ที่ให้อำนาจคณะกรรมการคุรุสภาสามารถกำหนดคุณสมบัติให้แตกต่างจากข้อบังคับที่กำหนดกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็น หรือหากไม่สามารถแก้กฎหมายได้เพราะอาจจะมีขั้นตอนยุ่งยากและต้องใช้เวลา เป็นไปได้หรือไม่ที่จะออกเป็นกฎหรือประกาศ ศธ.เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ สภาการศึกษาจะรวบรวมความคิดเห็นต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนำเสนอ รมว.ศธ.พิจารณาภายใน 1 เดือน อย่างไรก็ตามการนำคนเก่ง คนดีเข้ามาประกอบวิชาชีพครู จะต้องดำเนินการทั้งระบบ อย่างเช่น จะเห็นว่า ที่ผ่านมา บัณฑิตคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ที่เก่งๆ กลับไปประกอบวิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่ครู สะท้อนว่า เด็กอาจจะไม่รักการเรียนการสอนแต่ต้น ทำอย่างไรให้เหมือนแพทย์ วิศวะ โดยอาจจะมีต้องจัดสรรทุนให้เหมือนนักศึกษาแพทย์ และมีข้อบังคับเมื่อสำเร็จการศึกษาต้องเป็นครูระยะเวลา 5-10 ปี ขณะเดียวกัน ก็ต้องยกระดับวิชาชีพครูให้มีเกียรติและมีเงินเดือนสูง และต้องเป็นครูของรัฐที่มีระบบเดียวกัน

ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนฑล รองประธานมูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) กล่าวว่า กรณีที่ควรเปิดช่องให้คนที่เรียนจบในสาขาอื่นๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ ได้มีโอกาสมาเป็นครูโดยไม่จำเป็นต้องไปเรียนปริญญาด้านการศึกษานั้น ตนเห็นว่า สามารถจะแก้ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 โดยเฉพาะในมาตรา 44(ก)(3) ที่ระบุว่าต้องผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนดได้ โดยแก้ที่คำๆ เดียว คือ เปลี่ยนจากคำว่า “และ” เป็นคำว่า “หรือ” ซึ่งตรงนี้จะเป็นช่องทางที่ทำให้คุรุสภาทำงานได้ง่ายขึ้น

“จริงอยู่ว่าประสบการณ์ในการสอนก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่จุดนี้จะเป็นปัญหาของคนที่จบในสาขาอื่นๆ เพราะเขาจะไม่ได้ไปฝึกประสบการณ์สอนจริงอย่างแน่นอน แต่ถ้าเราสามารถแก้ไขให้เป็น ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ตรงนี้ก็จะง่ายขึ้นเพราะคนที่จบสาขาอื่นแม้ไม่ได้สอนก็สามารถนำประสบการณ์ที่มีมาเทียบเพื่อรับการประเมินเพื่อให้ผ่านและได้เป็นครูได้” ศ.เกียรติคุณ ดร.มนตรี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น