xs
xsm
sm
md
lg

“CSR Society” จากจิตสำนึกตนสู่สังคมสาธารณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

นักท่องอินเทอร์เน็ต เมื่อเข้าไปยังสังคมออนไลน์ จะเห็นว่า มีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่สังคมจำนวนมาก ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ การตั้งแฟนเพจบนเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ซึ่งแต่ละแฟนเพจต่างก็มีวัตถุประสงค์ที่ต่างกันออกไป อย่างแฟนเพจประเภท CSR Society ก็จะให้สมาชิกที่กดถูกใจ (Like) ได้ออกมาร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมกัน
ภาพกิจกรรมเพื่อสังคมที่เกิดจากการรวมกลุ่มทาง CSR Society
ทั้งนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า CSR คืออะไร ตามความหมายแล้ว CSR ย่อมาจาก Corporate Social Responsibility คือกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรต่างๆ ซึ่งทุกวันนี้แต่ละองค์กรต่างอาศัยสังคมออนไลน์ในการรวมกลุ่ม CSR Society ขึ้น โดย พรสิริ พร้อมพัฒนภักดี หรือ น้องฟ่ง นิสิตสาวจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสมาชิกของ CSR Society with Toyota บอกว่า สังคม CSR ในอินเทอร์เน็ตจะเกิดไม่ได้ ถ้าทุกคนไม่มีจิตสาธารณะ คือ ทุกอย่างต้องเริ่มมาจากจิตสำนึกของเราที่มีต่อสังคมก่อน อย่างในชีวิตประจำวันเราก็สามารถทำได้ง่ายๆ คือ ต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเองให้ดี ก็สามารถทำประโยชน์เพื่อสังคมได้แล้ว

น้องฟ่ง เล่าให้ฟังว่า ช่วงเวลาตนสอบ จะรับผิดชอบต่อตัวเอง และสังคมด้วยการอ่านหนังสือที่อาคารของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการประหยัดไฟที่บ้าน และเมื่อชวนเพื่อนมานั่งอ่านนั่งติวก็จะเกิดประโยชน์อีกอย่าง และบ้านของแต่ละคนก็จะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ ที่ผ่านมาได้มีการเปรียบเทียบค่าไฟฟ้าดู ปรากฏว่า ช่วงอ่านหนังสือบ่อยๆดึกๆที่บ้าน แม่จะบอกว่าค่าไฟเดือนนี้ขึ้น แต่พอมาอ่านนอกบ้านแล้ว ค่าไฟก็กลับมาคงที่เหมือนเดิม

ขณะที่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมแบบกลุ่มอาสา น้องฟ่ง ยอมรับว่า สังคมออนไลน์ประเภท CSR Society สามารถช่วยให้เกิดการรวมกลุ่มง่ายขึ้น ได้กลุ่มคนจำนวนมากออกมาร่วมทำสิ่งดีๆ และสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่สังคม
กัลยาณี พฤกษเศรษฐ
สอดคล้องกับ กัลยาณี พฤกษเศรษฐ หรือ ป้าณี ผู้ค้าขายชิ้นส่วนอะไหล่อิเล็กทรอนิกส์ ที่บอกว่า ตนพยายามไปร่วมกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ผ่านทาง CSR Society เช่น การปลูกป่าชายเลน การไปทำความสะอาดหลังพ้นวิกฤตน้ำท่วม เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย สมาชิกสามารถมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในสังคมออนไลน์ได้ ซึ่งก่อนจะมาถึงขั้นตอนการรวมกลุ่มในสังคมออนไลน์ และออกไปทำประโยชน์เพื่อสังคมได้ ป้าณี บอกว่า มันมาจากจิตสำนึกของแต่ละคนที่มีต่อสังคม และหากต้องการปลุกจิตสำนึกของตนก็สามารถเริ่มต้นได้จากการกระทำง่ายๆ ในชีวิตประจำวันของเราก่อน เช่น ปิดน้ำปิดไฟเมื่อไม่ใช้ ลดการใช้แอร์ การแยกขยะ เป็นต้น จากนั้นค่อยขยายออกไปสู่ชุมชนและสังคมที่กว้างขึ้น

“ปกติภายในร้านค้าจะพยายามไม่เปิดแอร์ อย่างช่วงเช้าที่อากาศยังเย็นอยู่ก็ไม่เปิด อาศัยแสงและลมจากธรรมชาติ ถ้าร้อนกว่านั้นจะเปิดประตูหน้าต่างและใช้พัดลมช่วย แต่ถ้าลูกค้าเข้ามาในร้านแล้วร้อน ไม่สบายตัวหรือไม่ไหวจริงๆก็จะเปิดแอร์ให้ผ่อนคลาย ส่วนกิจกรรมเพื่อสังคมจะนำของเหลือใช้ในบ้านเอาไปแบ่งปันให้ผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ของเด็กเล่น ของใช้ในครัวเรือนที่เหลือใช้และไม่มีความจำเป็น ก็จะแบ่งปันให้สังคมไป” ป้าณี เล่า

สำหรับสิ่งที่อยากจะฝากให้คนไทยทุกคนช่วยกัน ป้าณี บอกว่า อยากให้ลดการใช้ถุงพลาสติก เพราะเห็นว่าเมืองนอกลดการใช้ถุงพลาสติกได้อย่างเด็ดขาด แต่เมืองไทยเวลารณรงค์ให้ลด กลับมีการใช้เพิ่มขึ้น อย่างออสเตรเลียในนิตยสารเขาบอกว่า ลดการใช้ถุงพลาสติกได้ จากเดิมซึ่งยังไม่เห็นรูปธรรม แต่พอไปดูเองถึงรู้ว่าเขาลดการใช้ได้จริง อย่างโรงแรมเขาจะใช้ขวดน้ำที่เป็นแก้ว ซึ่งสามารถใช้ซ้ำได้ และหากเป็นการไปซื้อของ หากซื้อหนึ่งหรือสองชิ้น เขาจะไม่ให้ถุงพลาสติก แต่ถ้าอยากได้เขาก็จะคิดเงินเพิ่ม สำหรับเมืองไทยอ่านเจอนิตยสารเช่นกัน บอกว่า ยังทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะถ้าทำแล้วในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อาจเกิดปัญหา มีผลทางเศรษฐกิจ จึงทำให้ไม่ลงตัว ลดการใช้ถุงพลาสติกไม่ได้ผล
ลักษมี อนุวัติเมธี
ด้าน ลักษมี อนุวัติเมธี หรือ ป้าลูกหมี อาชีพแม่ค้า บอกว่า CSR Society ที่ไม่ได้อยู่ในสังคมออนไลน์ก็มี อย่างชุมชนของตนที่มีหมู่บ้านขนาดใหญ่กว่า 500-600 หลังคาเรือน ซึ่งในทุกๆ ปี ตนและคนในชุมชนจะออกมาช่วยกันแยกขยะ โดยทำปีละ 2 ครั้ง เพราะชุมชนบางทีขยะเยอะมาก แล้วขยะพวกนี้มีประโยชน์ หมายถึงว่าสามารถนำมารีไซเคิลได้ และบางส่วนก็สามารถนำมาคัดแยกขายได้อีก จึงอยากฝากไปถึงทุกๆคนว่า การทิ้งขยะให้ถูกต้อง จะคัดแยกขยะได้ง่ายขึ้น และขยะที่ยังมีประโยชน์ก็สามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างเต็มที่ เพราะหากนำขยะพวกเศษอาหารมาทิ้งรวมกับกระดาษ กระดาษก็จะไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ป้าลูกหมียังให้ความสำคัญกับเรื่องประหยัดนำอีกด้วย โดยบอกว่า ในอนาคตอาจไม่มีน้ำให้ใช้อย่างสบายเหมือนทุกวันนี้ จากการดูสารคดีต่างประเทศ พบว่าบางประเทศเขาลำบากมาก เพราะไม่มีน้ำใช้ แต่บ้านเรามีเหลือเฟือ ทำให้ไม่เห็นคุณค่า แต่ในอนาคตถ้าขาดแคลนน้ำขึ้นมา จะรู้เลยว่าน้ำมีคุณค่ามากขนาดไหน หากมาสำนึกในตอนนั้นก็สายไปเสียแล้ว

...เห็นได้ว่า การทำเพื่อสังคมไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่ยิ่งใหญ่เกินกว่ากำลังตัวเอง แค่มีจิตที่เป็นสาธารณะ เห็นแก่ประโยชน์ของคนในสังคมอยู่เสมอ สุดท้ายก็จะแสดงออกมาให้เห็นผ่านการกระทำในชีวิตประจำวันของเราเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น