xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ให้ร่วมประชาชนจ่าย 30 บาท รับยาจาก รพ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
มติบอร์ด สปสช.เห็นชอบฟื้นชีพ 30 บาท ประเดิม รพ.ขนาดใหญ่ ก่อน แต่ต้องจ่ายร่วม กรณีรับ ยา จาก รพ.เท่านั้น

วันนี้ (13 มิ.ย.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวภายหลังการประชุม บอร์ด สปสช.ว่า ในมติที่ประชุมบอร์ด สปสช.มีการพิจารณา เรื่อง นโยบายร่วมจ่าย 30 บาท โดยให้มีการเรียกเก็บ 30 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555 โดยการเรียบเก็บครั้งนี้จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้ เรียกเก็บกรณีประชาชนไปใช้บริการและได้รับการสั่งจ่ายยาเท่านั้น หากไม่มีการสั่งยาก็ไม่ต้องเรียกเก็บ โดยในช่วง 6 เดือนแรกนับจากเริ่มมาตรการให้มีการเรียกเก็บเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลในระดับจังหวัด พวกโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) รวมถึงโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย ต่อมาอีก 6 เดือนหลังจากนั้นจึงจะขยายไปยังโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ก่อนจะขยายไปยังโรงพยาบาลในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศกลางปี 2556

นายวิทยา กล่าวว่า การเรียกเก็บดังกล่าวจะยกเว้นกลุ่มคนยากจน ซึ่งจะมาจากฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย และผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล โดยกลุ่มคนยกเว้นนั้นมีประมาณ 24 ล้านคนจาก 47 ล้านคนในระบบ โดยกลุ่มดังกล่าวจะเป็นไปมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 อาทิ ผู้มีรายได้น้อยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล พ.ศ.2537 ผู้นำชุมชน ได้แก่ กำนัน สารวัตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี เด็กอายุไม่เกิน 12 ปีบริบูรณ์ บุคคลผู้พิการ พระภิกษุ สามเณร ทหารผ่านศึก ทหารเกณฑ์ เป็นต้น โดยกลุ่มเหล่านี้ไม่ต้องร่วมจ่ายดังกล่าว อีกทั้งนโยบายร่วมจ่าย 30 บาทครั้งนี้ ยังครอบคลุมทุกช่วงเวลา จากเดิมจะเน้นช่วงเช้า ล่าสุด ให้มีการขยายไปยังช่วงบ่าย เพื่อความสะดวกของผู้รับบริการด้วย

รมว.สธ.กล่าวว่า จากมาตรการดังกล่าวจะทำให้หน่วยบริการมีเงินรายได้ปีละ 2,000 ล้านบาท โดยให้แต่หน่วยบริการบริหารจัดการเอง ซึ่งจะนำไปพัฒนาคุณภาพต่างๆ ได้ ที่สำคัญมาตรการนี้จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมและความรู้สึกเป็นเจ้าของในระบบร่วมกัน และยังกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตระหนัก และร่วมมือในการดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น เป็นการส่งเสริมป้องกันโรค มากกว่าการรักษา ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นควรให้มีการปรับเปลี่ยนหน่วยบริการในกรณีขอย้ายภูมิลำเนา จากเดิมสามารถเปลี่ยนได้ปีละ 2 ครั้ง เป็นปีละ4 ครั้ง ซึ่งจะทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้น” รมว.สธ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น