xs
xsm
sm
md
lg

จับตา สปสช.มุ่งสู่ทศวรรษที่ 2 หนทางที่มีแต่หนามกุหลาบของ “นพ.วินัย สวัสดิวร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย จารยา บุญมาก

10 ปีของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถือว่าผ่านพ้นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งด้านดี ด้านร้าย มามาก กระทั่งผ่านมาถึงช่วงการเลือกเลขาธิการ สปสช.ในวาระใหม่ ซึ่ง นพ.วินัย สวัสดิวร ได้รับความไว้วางใจให้บริหารต่อเป็นวาระที่ 2
นพ.วินัย สวัสดิวร
นพ.วินัย ได้เปิดแถลงข่าวเรื่อง “ขับเคลื่อน 7 ยุทธศาสตร์ มุ่งสู่ทศวรรษที่ 2 สร้างความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” โดยเน้นการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็ง และความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ ภายใต้การมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน

ได้แก่ 1.เสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกและมาตรการคุ้มครองด้านประกันสุขภาพ สำหรับทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย 2.พัฒนากระบวนการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพอย่างกว้างขวาง และนำไปสู่ความเป็นเจ้าของร่วมกัน 3.สนับสนุนการพัฒนาการบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ ให้มีคุณภาพมาตรฐานทุกคนเข้าถึงได้ และเป็นที่พึงพอใจของประชาชนและผู้ให้บริการตามแนวทาง SMART UC โดยมีหมอใกล้บ้านใกล้ใจ มียาดีใช้เพียงพอ ไม่ต้องรอรักษานาน

4.ส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ โดยเน้นการเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน 5.บริหารเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง 6.เสริมสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างกองทุนอื่นๆ ทั้งด้านสิทธิประโยชน์และการให้บริการ 7.เสริมสร้างและพัฒนาธรรมาภิบาล ความเข้มแข็งและเสถียรภาพของระบบประกันสุขภาพ โดยเน้นความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อสังคม

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาที่ สปสช.มีภาระงานที่หนักอึ้งในเรื่องของการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพที่มีความซับซ้อนมากขึ้นโจทย์ยากของการบริหาร คงไม่ใช่แค่ ทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตของประชาชนกว่า 48 ล้านคน ดีอย่างเดียว แต่หมายถึงการเดินหน้าบริหารงานที่สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย

นพ.วินัย เปิดใจยอมรับว่า การทำงานตั้งอยู่บนความท้าทายพอสมควร โดยจากนโยบายของรัฐบาลชัดเจนว่า ต้องเน้นที่การลดความเหลื่อมล้ำ เรื่องระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้ป่วยในโรคต่างๆ อย่างเช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และผู้ติดเชื้อเอชไอวี ต้องหารือร่วม 3 กองทุน คือ สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ว่า จะจัดบริการอย่างไรให้มีมาตรฐานที่ไม่ต่างกันมาก เพื่อให้ครอบคลุมของประชาชนทุกคน โดยขณะนี้ สปสช.มีบริการ สำหรับผู้ป่วยโรคไต ปัจจุบันมีกว่า 3 หมื่นคน ทั้งในสิทธิล้างช่องท้อง และฟอกเลือด และในอนาคตต้องหารือร่วมกับระบบอื่นๆ ว่า จะมีเป้าหมายในการบริการอย่างไรให้สะดวกรวดเร็ว

อีกประเด็นของการบริการด้านสุขภาพที่ สปสช.ได้เคยดำเนินการค้างคาไว้ ก็คือ เรื่อง เกณฑ์การให้ยาต้านไวรัสในผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ที่ยังไม่แน่นอน โดย สปสช.มีมติเมื่อวันที่ 18 เม.ย.2554 ว่า อาจจะต้องให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ตามระดับ CD4 ต่ำกว่า 350 ซึ่งต่างจากเกณฑ์ที่ WHO กำหนด คือ ค่า CD4 ต่ำกว่า 200 แต่ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ อาทิ ให้ได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี ผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 50 ปี และป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งส่วนดังกล่าว สปสช.จะมีงบบริการสุขภาพ แยกเป็นงบต่างหากจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งยังมีบางฝ่ายที่คัดค้านอยู่

นพ.วินัย กล่าวย้ำว่า สิ่งที่ต้องทำต่อไป ก็คือ การเร่งหารือทำความเข้าใจในเกณฑ์ดังกล่าวว่า การตรวจหา CD4 ใช้ค่าเท่าใด รวมทั้งเกณฑ์การใช้ยา ควรเป็นไปในทิศทางใด

“กรณีนี้ เบื้องต้นได้เชิญ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วินัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย มาเป็นประธานคณะกรรมการเฉพาะในการกำหนดเกณฑ์ต่างๆ ขึ้น จากนั้นจึงจะพิจารณาว่า ทุกระบบต้องการใช้ยามาตรฐานเดียวกันอย่างไร ซึ่งการขยายเรื่องไตวาย และเอชไอวี นั้น จะพยายามทำให้เร็วที่สุด และหากเป็นไปได้น่าจะเป็นรูปธรรมภายในเดือนมิถุนายนนี้” นพ.วินัย ย้ำ

ไม่เว้นแม้แต่การฟื้นชีพ ระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ถือว่า สปสช.มีบทบาทในการดำเนินงานอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้ นพ.วินัย ย้ำว่า จำเป็นต้องมีการนำเข้าที่ประชุมบอร์ด สปสช.ในวันที่ 11 มิถุนายนนี้ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า จะมีรูปแบบการเรียกเก็บอย่างไร คงต้องรอในการประชุม เนื่องจากเรื่องนี้ได้มอบให้กับคณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ ส่วนรายละเอียดเรื่องการเก็บค่าใช้จ่ายนั้นยังไม่มีความชัดเจน

สุดท้าย แม้ สปสช.จะได้เลขาธิการ สปสช.คนเดิมมาบริหารต่อเนื่อง พร้อมกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ไม่แปรเปลี่ยนจากเดิมนัก แต่คงต้องจับตาดูกันต่อไป เพราะการเป็นเลขาธิการรอบใหม่ครั้งนี้ เป็นการวัดกึ๋นและความสามารถอย่างแท้จริง ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดมากมาย โดยเฉพาะตัวแปรสำคัญอย่างการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น