xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! ล้างไตช่องท้อง ติดเชื้อเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อึ้ง! พบสถิติติดเชื้อจากการล้างไตทางช่องท้อง พุ่งกว่า 5 พันราย “ประธาน สพศท.” จี้ สปสช.ทบทวนแผนกระจายยา เน้นพิจารณารายละเอียดรอบคอบ หมอไต ชี้ แพทย์ต้องติวเข้มให้ดี ย้ำคนแก่ และคนมีประวัติผ่าตัดช่องท้องไม่ควรใช้วิธีนี้

จากกรณีที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ออกข่าวเรื่องการล้างไตทางช่องท้อง โดยระบุว่า ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้ และมีการรณรงค์วิธีการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องนั้น แต่ต่อมามีการเปิดเผยข้อมูล ว่า โครงการดังกล่าวส่งผลให้ผู้ป่วยโรคไตด้วยวิธีล้างไตทางช่องท้องเสียชีวิตนั้น

ล่าสุด แหล่งข่าวรายหนึ่งระบุว่า จากการศึกษาข้อมูลเอกสารโดยตรงจากโรงพยาบาล (รพ.) ที่เป็นเครือข่ายของ สปสช.ซึ่งเข้าร่วมโครงการดังกล่าว พบว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปี 2554 มีผู้ป่วยที่รับบริการดังกล่าวอย่างเดียว โดยไม่ใช้วิธีการฟอกเลือดร่วม ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อมาแล้วกว่า 5,000 คน โดยปี 2554 มีการรายงานสถิติการตายในกลุ่มผู้ป่วยจาก รพ.ในเครือมากถึง 12 แห่ง ซึ่งทั้งหมดอยู่ในต่างจังหวัดทั้งสิ้น ไม่มีในเขต กทม.

ด้าน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า จากกระแสข่าวดังกล่าว เคยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กับแพทย์ และบุคลากรใน รพ.หลายแห่ง พบว่า บางหน่วยบริการมีการกระจายน้ำยาล้างไตทันทีหลังจากที่ผู้ป่วยมาลงทะเบียน โดยความเห็นส่วนตัวอาจเป็นเพราะ สปสช.มีเป้าหมายในการเดินหน้าโครงการ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ป่วยโดยเร็ว จึงมีความเป็นห่วงว่า ผู้ป่วยที่อาจจะได้ข้อมูลไม่ครบ ทำให้เข้าใจผิดได้ จึงอยากเสนอแนะให้ สปสช.ปรับปรุงระบบการบริหารโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องการกระจายยาแก่ผู้ป่วย เพื่อให้รอบคอบมากกว่าเดิม จะได้ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งควรสำรวจข้อมูลด้วยการติดตามพฤติกรรมของผู้ป่วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการล้างไตด้วย

ขณะที่ พญ.ธนันดา ตระการวนิช อนุกรรมการป้องกันไตวายเรื้อรัง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การล้างไตทางช่องท้องนั้น มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ หากกระบวนการล้าง หรือทำความสะอาด อุปกรณ์ไม่มีมาตรฐานพอ แต่วิธีที่สามารถป้องกันได้ดี คือ แพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข จะต้องมีการสอนและฝึกฝนผู้ป่วยให้มีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ข้อดีของการล้างไตทางช่องท้อง โดยการให้ผู้ป่วยนำไปทำเองที่บ้าน ก็เป็นการลดภาระแพทย์ และลดเวลาได้ดี แต่ก่อนการตัดสินใจกระจายยาให้ผู้ป่วยทำเองก็ต้องมีการซักประวัติให้แน่ชัด โดยหลักการที่สำคัญ คือ ผู้ที่จะล้างไตทางช่องท้องได้ ต้องไม่ใช่ผู้สูงอายุ และไม่เคยผ่าช่องท้องมาก่อน

“สำหรับภาวะแทรกซ้อนส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น คือ การติดเชื้อภายในช่องท้อง เกิดจากทำการล้างไตไม่ถูกวิธี เมื่อผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อภายในช่องท้อง จำเป็นต้องมาพบแพทย์โดยด่วน เพื่อรีบให้ยาฆ่าเชื้อภายในช่องท้อง การป้องกันการติดเชื้อภายในช่องท้อง คือ ปฏิบัติตามขั้นตอนการล้างไตที่แนะนำอย่างถูกต้อง และเคร่งครัด และเมื่อผู้ป่วยมีอาการบ่งชี้ของการติดเชื้อภายในช่องท้อง คือ ไข้สูง น้ำยาขุ่น ปวดท้อง กดเจ็บบริเวณหน้าท้อง ควรรีบมาพบแพทย์” พญ.ธนันดา กล่าว

พญ.ธนันดา กล่าวต่อว่า ข้อแนะนำสำหรับการดูแลตนเองของผู้ป่วยที่ล้างไตทางช่องท้อง คือ ควรบริโภคอาหารโปรตีนสูงในปริมาณที่มากกว่าในผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เนื่องจากมีการสูญเสียโปรตีนไปในน้ำจากการล้างไตทางช่องท้อง ส่วนใหญ่จะไม่จำกัดอาหารที่มีโปแตสเซียม เนื่องจากมีการล้างของเสียออกตลอดเวลา รวมทั้งสารโปแตสเซียม ผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องจำกัดปริมาณพลังงานจากอาหาร เนื่องจากผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้องจะได้รับพลังงานส่วนหนึ่งจากน้ำยาล้างไต

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ : คุณเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตหรือเปล่า? 

กำลังโหลดความคิดเห็น