xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.เร่งพัฒนาระบบรองรับผู้ป่วยไตรายใหม่ล้างไตทางช่องท้องกว่า 3 พันราย/ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สปสช.เผย ผู้ป่วยไตรายใหม่เข้ารับบริการล้างไตทางช่องท้องกว่าปีละ 3 พันราย ผนึกภาคีเครือข่าย ประชุมพัฒนาระบบบริการเพิ่มขึ้น ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ลดภาระบุคคลากร

วันนี้ (3 ก.พ.) นพ.สุรพล อริยปิติพันธ์ ผู้จัดการกองทุนโรคไตวาย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในการแถลงข่าวเรื่อง “4 ปีกับทิศทางและนโยบายการล้างไตทางช่องท้องในคนไทย เพื่อชีวิตอิสระผู้ป่วยไตวายในระยะสุดท้าย” ว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยไตวายทั้งหมดในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยังคงมีชีวิตและรักษาด้วยการบำบัดทดแทน มีจำนวนทั้งสิ้น 19,808 คน เป็นผู้ป่วยที่ทำการล้างไตทางหน้าท้อง (PD) จำนวน 9,664 คน บำบัดด้วยการฟอกเลือด (HD) จำนวน 9,297 คน และเป็นผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนไตแล้วและรับยากดภูมิอีก 847 คน และยังพบว่าแนวโน้มผู้ป่วยใหม่ในแต่ละเดือนที่เพิ่มขึ้นมีจำนวนประมาณ 600 กว่าราย เป็นผู้ป่วยที่ทำการล้างไตทางหน้าท้องประมาณเดือนละ 400 กว่าราย เป็นผู้ป่วยที่ทำการฟอกเลือดประมาณเดือนละ 100 กว่าราย ซึ่งผู้ป่วยในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ล้วนได้รับสิทธิประโยชน์ ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2551 โดยผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจะได้รับบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้องเป็นอันดับแรก (PD First Policy) โดยในช่วง 2 ปีมานี้จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มเข้ามามาก จะเป็นผู้ป่วยที่ล้างไตฯ เมื่อหักจำนวนที่เสียชีวิตออกจากจำนวนรายใหม่แล้ว จำนวนที่จะเพิ่มเข้ามาในระบบจะมีประมาณปีละเกือบ 3,000 คน ในขณะที่ผู้ป่วย ฟอกเลือด แม้จะมีรายใหม่เกิดขึ้นแต่เมื่อหักผู้ที่เสียชีวิตออกแล้ว จำนวนที่จะเพิ่มเข้ามาในระบบจะประมาณปีละ 400 คน แต่ก่อนจะมีนโยบายนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้หากไม่มีเงินในการรักษาตัวแล้ว จะเสียชีวิตภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน และหากถึงแม้จะมีเงินรักษาตัวแต่ก็เป็นความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากค่ารักษาจะเป็นจำนวนเงินประมาณปีละอย่างน้อย 2-3 แสนบาท ซึ่งหากไม่ใช่เป็นผู้ที่มีฐานะดีแล้วอาจถึงขนาดต้องล้มละลาย และเป็นภาระให้แก่ครอบครัวและเป็นปัญหาทางสังคมต่อมาได้ แต่หลังจากที่มีโครงการนี้แล้ว ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างมีมาตรฐาน ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ และบางคนสามารถทำงานได้เป็นปกติสามารถหารายได้เลี้ยงครอบครัวได้

นพ.สุรพล กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรับรู้และสามารถเข้ามาในระบบการรักษาด้วย ล้างไตแล้วก็ตาม แต่ยังปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง เช่น ปัญหาแรก คือ เรื่องภาระงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มเข้ามาในระบบมีจำนวนมาก ในขณะที่จำนวนเจ้าหน้าที่ยังมีไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความล้ากับเจ้าหน้าที่ได้ และอาจทำให้เกิดปัญหาการรอคิวได้ ซึ่งต้องแก้ไขด้วยการเพิ่มความสามารถของระบบบริการให้รองรับผู้ป่วยให้เพียงพอและขยายหน่วยบริการ ให้มากขึ้นด้วย ซึ่งเชื่อว่า หากทำได้ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย

ด้าน รศ.นพ.ทวี ศิริวงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ รพ.ศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาด้วยวิธีการล้างช่องท้องนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็จริง แต่ก็ยังมีเสียชีวิตอยู่บ้าง โดยมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ ประมาณปีละ 10 % แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดเรื่องของข้อดีในบริการล้างไตฯ ที่ สปสช.และหน่วยบริการจัดให้ก็พบว่า อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยอยู่ที่ 55 ปี ซึ่งเป็นวัยของผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ดังนั้น เท่ากับว่า นอกจากช่วยชีวิตเป็นรายบุคคลแล้วยังอาจจะเรียกได้ว่า “ช่วยชีวิตทั้งครอบครัว” อีกด้วย ดังนั้น ในปีนี้ทางเครือข่าย อาทิ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น รพ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) สาขาพร้อมมิตร ร่วมกับ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และ สปสช.จัดประชุมวิชาการแพทย์-พยาบาลโรคไตทั่วประเทศ “The 2nd PD University Meeting” ระดมแนวคิดพัฒนาการล้างไตทางช่องท้อง (PD) และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ร่วมมือในการรักษาผู้ป่วยโรคไตให้ดียิ่งขึ้น โดยหนึ่งในข้อเสนอของการรักษาก็คือ การจัดหาน้ำยาล้างไตที่สั่งนำเข้าจากต่างประเทศประมาณปีละ 12 ล้านถุง เพื่อกระจายให้ผู้ป่วยตามหน่วยบริการดังกล่าว พร้อมทั้งอจัดอบรมเจ้าหน้าที่ พยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขในการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกวิธีด้วย

ด้าน พญ.ปิยะธิดา จึงสมาน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตและการบำบัดทดแทนไต ศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง รพ.บ้านแพ้ว สาขาพร้อมมิตร และสาขาธนบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์บริการล้างไตฯ ของ รพ.มีการรับผู้ป่วยต่อจากสถานบริการอื่นๆ ประมาณ 15-20 แห่ง โดยหากผู้ป่วยได้รับการส่งต่อมาจากอายุรแพทย์โรคไต ของสถานบริการต้นสังกัด เพื่อมารับคำแนะนำดังกล่าว โดยจะมีการนัดเพื่อให้คำแนะนำเป็นรายกลุ่ม สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง โดยอายุรแพทย์โรคไต ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับฟังคำแนะนำอย่างถูกต้องก่อนรับน้ำยาไปล้างไตด้วยตนเองที่บ้าน

พญ.ปิยะดา กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ทำการล้างไตผ่านช่องท้องนั้นข้อดี คือ ผู้ป่วยไม่ต้องพึ่งพาบุคลากรทางการแพทย์ตลอดเวลา สามารถดูแลได้ด้วยตัวเองและญาติ หลังจากได้รับการฝึกอบรมแล้วผู้ป่วยไม่ต้องจำกัดน้ำและอาหารมากเท่าการฟอกเลือด ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาล เพราะพบแพทย์เพียงเดือนละ 1 ครั้ง เนื่องจากผู้ป่วยสามารถทำได้เองที่บ้านไม่ต้องพึ่งพาสถานบริการ จึงสะดวกต่อทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ แต่ต้องมั่นใจว่าผู้ป่วยต้องไม่เป็นพังผืดทางช่องท้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น