ชงบอร์ด สปสช.ถอยเรื่องเก็บ 30 บาท พร้อมเสนอควรให้ผู้ป่วยบัตรทองร่วมจ่ายโดยสมัครใจ ด้าน “หมอเกรียงศักดิ์” ชี้ให้จ่ายแบบสมัครใจไม่ต่างจากที่ รพ.ต่างๆ ทำอยู่ ระบุห่วงเรื่องการเพิ่มคุณภาพและการขยายบริการในระบบบัตรทองควรให้ผู้ป่วย สปสช.ได้ประโยชน์จริง แนะรัฐบาลควรทำจริงจังไม่ใช่แค่หาเสียง
แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ สปสช.เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมี นพ.ไพจิตร วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมสรุปเตรียมเสนอบอร์ด สปสช.ในเช้าวันที่ 13 มิย. นี้ ให้เริ่มเก็บ 30 บาท แบบสมัครใจ และให้เก็บเฉพาะการไปใช้บริการนอกเวลาบริการปกติช่วง 13.00-16.00 น.ในโรงพยาบาล (รพ.) ขนาดใหญ่ที่อยู่ในระบบบัตรทอง เช่น รพ.มหาวิทยาลัย รพ.สังกัดกองทัพ สังกัดกรุงเทพมหานคร รพ.ศูนย์ และ รพ.ทั่วไปเท่านั้น และให้ รพ.ขนาดใหญ่ขยายการให้บริการผู้ป่วยบัตรทองในช่วงบ่ายเพิ่มขึ้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สค. ที่จะถึงนี้
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมเห็นว่าการเก็บ 30 บาทเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศไว้ และเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ขณะเดียวกันให้ระบบบริการมีคุณภาพมากขึ้น จึงให้เก็บเงิน 30 บาทแบบสมัครใจเฉพาะการไปใช้บริการนอกเวลาบริการปกติในช่วงบ่ายที่ รพ.ขนาดใหญ่ โดยผู้ป่วยสามารถแสดงความจำนงไม่ร่วมจ่าย 30 บาทได้ และสำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิเช่น รพ.สต. และรพ.ชุมชน จะให้เก็บ 30 บาทจากผู้ป่วยแบบสมัครใจ เมื่อมีการพัฒนาศักยภาพการให้บริการดีขึ้นอย่างชัดเจนในภายหลัง
ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกรียติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ที่เคยคัดค้านการฟื้นนโยบายเก็บ 30 บาท ของรัฐบาล กล่าวถึงข้อเสนอดังกล่าวว่า ข้อเสนอให้เก็บแบบสมัครใจ ถ้าไม่มีการบังคับผู้ป่วยจริงก็ไม่ต่างจากที่ปัจจุบัน รพ.ต่างๆ ทำอยู่แล้ว โดยเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยบริจาคครั้งละ 30 บาทหรือผู้ป่วยบางคนอาจบริจาคให้ รพ.มากกว่า ถือเป็นการถอยหนึ่งก้าวโดยรัฐบาลก็ไม่เสียหน้าอะไร ถึงแม้จะไม่ได้ทำตามที่ประกาศนโยบายจะเก็บ 30 บาทอีกครั้งหนึ่งก็ตาม แต่หลายคนเป็นห่วงว่าที่ประกาศจะเพิ่มคุณภาพและขยายการบริการ โดยให้ รพ.ขนาดใหญ่เปิดบริการผู้ป่วยบัตรทองนอกเวลามากขึ้น รัฐบาลจะทำได้จริงแค่ไหน รพ.มหาวิทยาลัย รพ.สังกัดกองทัพ และสังกัดกรุงเทพมหานครจะฟังและปฏิบัติตามที่รัฐบาลขอหรือไม่ เพราะงบเหมาจ่ายปี 2556 ของ สปสช.ถูกรัฐบาลตัดงบลดลงจากปี 2555 นี้ถึงร้อยละ5 เป็นปีแรก และรัฐบาลแรกในรอบ10ปีที่มีการตัดงบเหมาจ่ายลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายและอัตราเงินเฟ้อในปีนี้และปีหน้ากลับเดินหน้าเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก ซึ่งสวนทางกับที่รัฐบาลจะขอให้ รพ.ต่างๆ เพิ่มคุณภาพและขยายบริการผู้ป่วยบัตรทองนอกเวลาเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบัน รพ.ขนาดใหญ่เหล่านี้ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดหลายจังหวัดก็เปิดให้บริการนอกเวลาอยู่แล้ว แต่เรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยครั้งละมากกว่าเก็บ 30 บาท หลายเท่า บางแห่งเก็บในอัตราเดียวกับ รพ.เอกชน ปัญหาเหล่านี้รัฐบาลจะกล้าเข้าไปแก้ไขจริงหรือ
“เรื่องขยายบริการและเพิ่มคุณภาพบริการในระบบบัตรทอง อยากให้รัฐบาลทำอย่างจริงจัง ให้ผู้ป่วย สปสช.ได้ประโยชน์จริงๆ ไม่อยากให้เป็นเพียงการหาเสียงของนักการเมืองเหมือนโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ประกาศเปิดตัวอย่างใหญ่โตไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา แต่ไม่มีการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมอะไรจากรัฐบาล ทำให้มี รพ.เอกชนจำนวนจำกัดที่ยอมเข้าร่วมให้บริการและไม่ถามสิทธิ ไม่เก็บเงินจากผู้ป่วย ตามสถิติแต่ละวันมีผู้ป่วยฉุกเฉินทั่วประเทศกว่าพันคนที่จำเป็นต้องไปใช้บริการที่ รพ.ใกล้ตัว แต่ข้อเท็จจริงขณะนี้โดยเฉลี่ยมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ได้ประโยชน์จริงๆ เพียงวันละไม่เกิน 40 คน และจำนวนค่อยๆลดลงเพราะขาดการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยรับรู้สิทธิ ด้าน รพ.ก็ไม่ได้ตั้งใจจะให้บริการจริงเพราะการสนับสนุนจากรัฐบาลไม่ชัดเจน ส่วน รพ.เอกชนก็ถือโอกาสเสนอขอเพิ่มค่าบริการ เพิ่มกำไรครั้งใหญ่” ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว