กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องทบทวนเก็บเงิน 30 บ.ชี้ ทำให้ประชาชนรู้สึกด้อยค่า เหตุต้องชี้แจงไม่พร้อมจ่าย เพราะยากจน เผย ปัญหาฉุกเฉิน 3 กองทุน ยังไม่รวมผู้ประสบภัยจากรถ แนะดึงเข้าร่วมให้เป็นมาตรฐานเดียว ส่วน รพ.เอกชนที่มีปัญหาเรียกเก็บเงินเพิ่มให้รัฐบาลเร่งเจรจาชดเชยให้เหมาะสม
วันนี้ (11 มิ.ย.) น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนการร่วมจ่าย 30 บาท และพัฒนาระบบเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ทั้งนี้ ขอชื่นชมรัฐบาลที่ได้ประกาศนโยบายที่ก้าวหน้าในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ ถ้าหากทำได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพประชาชนก็จะได้รับประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกัน ทราบว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช.วันที่ 13 มิ.ย.ที่ รมว.สธ.เป็นประธานนั้น จะมีการพิจารณาเรื่องการร่วมจ่าย 30 บาท
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า ทางกลุ่มมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า การเร่งรัดนำนโยบายเก็บเงินค่าธรรมเนียม ร่วมจ่าย ที่หน่วยบริการทุกครั้งที่ไปรับบริการ ครั้งละ 30 บาทนั้น ถือว่าขัดแย้งกับนโยบาย “ลดความเหลื่อมล้ำ” เพราะการเก็บเงินจะส่งผลกระทบต่อคนจน ถึงคนจนที่สุด มากกว่าคนทีมีรายได้ประจำและคนรวย ถึงแม้จะมีการยกเว้นประชาชนบางกลุ่ม ประชาชนที่ยากจน จุดนี้คือข้ออ่อนที่สุด คือ ทำให้ประชาชนไปรับบริการด้วยศักดิ์ศรีที่ด้อยค่า เพราะต้องชี้แจงทุกครั้งว่าไม่พร้อมจ่ายเพราะยากจน รัฐบาลไม่ควรทำให้มีสองมาตรฐานในนโยบายเดียวกัน
ส่วนการดำเนินนโยบาย “ฉุกเฉิน” ยังมีปัญหาสำคัญ 2 ประการ คือ 1.การบูรณาการ 3 กองทุนยังไม่รวมกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ ทำให้มีการเรียกเก็บเงิน แล้วให้ประชาชนไปติดต่อเบิกคืนเอง ซึ่งยุ่งยาก และเป็นอุปสรรคต่อการรักษาอย่างทันท่วงที 2.ยังมี รพ.เอกชนบางส่วน ไม่ยอมรับการจ่ายเงินที่ DRGs ละ 10,500 บาท ทำให้มีการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วย หรือรับรักษาเพียงเพื่อให้พ้นภาวะฉุกเฉิน และรีบส่งกลับ โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมของผู้ป่วยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้
1.ทบทวนการเก็บเงิน 30 บาท อย่างรอบคอบ เปิดโอกาสให้ประชาชนให้ความเห็นต่อบอร์ดสปสช.อย่าฟังความเห็นจากกลุ่มหมอให้บริการเพียงกลุ่มเดียว
2.ให้รัฐบาลดำเนินการให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สนองนโยบายนี้อย่างเร่งด่วน โดยดึงกองทุนผู้ประสบภัยเข้าร่วมนโยบายฉุกเฉิน 3 กองทุน
3.ให้รัฐบาลเร่งเจรจาและหาแนวทางการจัดการร่วมกันกับ รพ.เอกชนเพื่อให้สนองนโยบายนี้ โดยให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทุกกองทุน ต้องรักษาผู้ป่วยจนสิ้นสุดการรักษา โดยผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่าย พร้อมทั้งต้องให้ความมั่นใจกับหน่วยบริการว่ารักษาแล้วจะได้รับการชดเชยที่เหมาะสม