เครือข่ายเอดส์-ไตหนุนรัฐบาลเดินหน้าลดเหลื่อมล้ำ เสนอทุกระบบใช้ยาต้านและมีแนวทางรักษาเหมือนกัน ส่วนไตแนะให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมเลือกวิธีรักษา และให้ร่วมจ่ายไม่เกินครั้งละ 300 บ. ด้านแพทย์โต้ สปส.เหตุยื้อรักษามะเร็งปากมดลูก จี้ สปส.เลิกหากินกับแรงงาน
นายสุดใจ ตะภา ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ใน 3 กองทุนสุขภาพว่า ความแตกต่างของแต่ละระบบทำให้คุณภาพชีวิตต่างกัน ดังนั้น ในส่วนของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังนี้ 1. ทั้งสามระบบให้ใช้ระบบฐานข้อมูลอันเดียวกัน คือ NAP เพื่อให้การเคลื่อนย้ายผู้มีสิทธิเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีสิทธิเดียวกัน 2. ให้ทุกคนมีมาตรฐานการรักษาเดียวกัน 3. มีแนวทางการอนุมัติปรับเปลี่ยนสูตรยาแบบเดียวกัน 4. มีการใช้ระบบการจัดการ และสำรองยาต้านไวรัสสูตรดื้อยาแบบเดียวกัน 5. ให้ทั้งสามกองทุนร่วมกันรับผิดชอบในเรื่องการป้องกันการติดเชื้อฯของทุกคน
นายสหรัฐ ศราภัยวานิช ตัวแทนผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในขณะนี้ได้แก่ แต่ละระบบยังมีสิทธิประโยชน์ที่ต่างกันมาก รวมถึงแนวทางการดูแลบำบัดทดแทนไตที่แต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อด้อยต่างกันไป ซึ่งข้อเสนอของชมรมเพื่อนโรคไตในการลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน ได้แก่ 1. การเลือกแนวทางการรักษาสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ควรยึดเหตุผลทางการแพทย์ของคนไข้เป็นเหตุผลหลัก 2. สปสช.ควรสนับสนุนการพัฒนาระบบให้ข้อมูลคนไข้ที่รอบด้านเพื่อให้มีส่วนร่วมการรักษาและเลือกแนวทางได้ 3. คนไข้ล้างหน้าท้องต้องฟรีในทุกระบบรวมถึงการวางสาย ปัจจุบันคนไข้ประกันสังคมยังต้องร่วมจ่ายในการล้างหน้าท้อง 4. คนไข้ฟอกเลือดรายเก่า รายใหม่ที่ต้องการฟอกเลือดในทุกระบบร่วมจ่ายไม่เกิน 300 บาทต่อครั้ง และไม่จำกัดจำนวนครั้ง รวมทั้งไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเตรียมเส้นสำหรับฟอก 5. ทั้งสามกองทุนต้องวางมาตรการการควบคุมคุณภาพการฟอกเลือดด้วยเครื่อง การติดเชื้อจากเพื่อนที่อาจเป็นเหตุให้ติดโรคอื่นๆ เช่น ตับอักเสบบี และซี และเอชไอวีได้ 6. ให้กรมการค้าภายในควบคุมค่าบริการทางการแพทย์ ค่าฟอกเลือด การเตรียมเส้นเลือด
ต่อกรณีการเปิดเผยข้อมูลว่า รพ.ตามสิทธิประกันสังคมไม่สามารถรักษาผู้ประกันตนจากโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของ สปสช.ได้นั้น นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ที่ปรึกษาภาคีหมออนามัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นที่ สปส.ไม่ได้ตอบ คือ ทีมงานประสานงานกับ สปส.มาตลอดก่อนหน้าที่เรื่องนี้จะเป็นข่าว ที่เป็นข่าวเพราะสปส.ไม่เคยแก้ปัญหาได้ การทำงานตรงนี้ไม่ใช่หน้าที่ของโครงการตรวจคัดกรอง ผู้บริหาร สปส.ทราบเรื่องนี้ดี เราร้องเรียนมาตลอดหลายเดือน แต่ทาง สปส.เพิ่งออกมาบอกว่าขอตรวจสอบก่อนว่าการรักษาขั้นต้นนี้เป็นเรื่องจำเป็นของแพทย์สูตินรีเวชหรือไม่ ซึ่งนับว่าเป็นการรู้ตัวที่ช้ามาก ทุกอย่างที่ สปส.ทำตรงข้ามกับยุทธศาสตร์สวยหรูของ สปส.ทั้งสิ้น
“สปส.ต้องหยุดเอาผู้ป่วยเป็นตัวประกันและเลิกหากินกับแรงงานได้แล้ว เหตุการณ์นี้เป็นหลักฐานที่สะท้อนซ้ำๆ ว่า สปส.ไม่มีศักยภาพที่จะทำเรื่องการรักษาพยาบาลได้เลย สำนักงานที่มีหมอแค่ 2 คน แต่ต้องมาดูเรื่องรักษาพยาบาลให้คน 10 ล้านคน ระบบ สปส.ถึงได้เละเทะแบบนี้ อุปกรณ์ที่จะรักษาผู้ป่วยมะเร็งขั้นพื้นฐาน จัดหาได้ไม่ยาก ประเด็นคือรักษาระยะแรกซึ่งสูญเสียน้อยทำไม่ไม่ทำให้แล้วเสร็จ การรักษาง่ายที่สุดยังต้องส่งต่อ แบบนี้จะเรียกว่ามีมาตรฐานตรงไหน และหาก รพ.จะตรวจซ้ำก็อาจจะทำได้ แต่ขณะที่ผู้ประกันตนมาโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วย โรงพยาบาลไม่ควรเก็บเงินซ้ำอีก ทั้งที่จ่ายสมทบทุกเดือน แบบนี้จะมีสิทธิประกันสังคมทำไม เมื่อยังต้องจ่ายซ้ำซ้อนอีก ถ้าเช่นนั้นผมก็ขอทวงเงินคืนให้กับทุกคนด้วย เพราะไม่เป็นธรรม คนไทยใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน แต่ผู้ประกันตนกลับเป็นกลุ่มเดียวที่ถูกเลือกปฏิบัติแบบไม่เป็นธรรมอย่างนี้” นพ.พูลชัยกล่าว