xs
xsm
sm
md
lg

มศว ชี้เด็กเบื่อเนื้อหาในแท็บเล็ต-แนะส่งช่างเทคนิคประกบครู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มศว เตรียมส่งมอบผลการศึกษาแท็บเล็ตใน ร.ร.นำร่องให้ สพฐ.30 พ.ค.นี้ ชี้ เด็กเบื่อการนำเสนอ ควรปรับรูปแบบเนื้อหาใหม่ ย้ำ ควรส่งเจ้าหน้าที่เทคนิคช่วยครู ป.1 สอนในห้องเรียน เหตุพบปัญหาความล่าช้าในการเรียนการสอน

วันนี้ (29 พ.ค.) ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ (มศว) และ ผศ.ดร. ศิรินุช เทียนรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการได้กล่าวถึงผลการศึกษาและติดตามการใช้แท็บเล็ตกับเด็ก ป.1 ตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้โครงการ “One Tablet PC per Child” ในเวทีการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 6 เรื่อง การใช้แท็บเล็ตกับการพัฒนาการศึกษาไทย

โดย ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ขณะนี้ทาง มศว ได้ทำการสรุปผลการศึกษาและติดตามการใช้แท็บเล็ตของ 5 โรงเรียนนำร่องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในวันที่ 30 พ.ค.ตนและคณะที่ทำการศึกษาครั้งนี้ จะนำผลการศึกษาทั้งหมดที่มีรายละเอียดอ้างอิง พร้อมกับข้อเสนอแนะไปส่งมอบให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตามระยะเวลาที่กำหนด โดย มศว มีเวลาลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพียง 7-8 สัปดาห์เท่านั้น ก็ต้องยอมรับว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ไม่ได้มีการวัดเรื่องของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็ก แต่จะเน้นดูในประเด็นของสุขภาพและพฤติกรรมของเด็กเป็นหลัก
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
“เราได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบกับเด็กนักเรียนชั้น ป.4ด้วย ซึ่งพบว่า เด็ก ป.4 สามารถนำแท็บเล็ตมาใช้ให้เกิดการเรียนรู้ได้มากกว่าเด็ก ป.1 แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้เด็ก ป.1 หรือใช้แล้วไม่ดี แต่ มศว ต้องการเสนอว่าในเมื่อรัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดซื้อแท็บเล็ตแจกทุกระดับชั้นได้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะเลือกแจกเฉพาะเด็ก ป.1 ในขณะที่ผลการศึกษาเปรียบเทียบ พบว่า เด็ก ป.4 ใช้แท็บเล็ตในทางที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้มากกว่าเด็ก ป.1 จึงเสนอว่าควรจะแจกเด็ก ป.4 ครึ่งหนึ่ง เพื่อมีการศึกษาเปรียบเทียบกัน ว่า ช่วงชั้นไหนเหมาะที่จะใช้และมีความคุ้มค่ากว่ากัน” ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าว

อธิการบดี มศว กล่าวต่อว่า แม้ผลการศึกษาจะออกมาแล้ว ตนก็เชื่อว่า ทาง สพฐ.จะรับฟังและนำผลการศึกษาไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักเรียน อย่างไรก็ตาม ตนได้มีข้อเสนอแนะ เนื่องจากครูชั้น ป.1 ใน 5 โรงเรียนนำร่องได้เสนอว่า สพฐ.ควรจะจัดหาเจ้าหน้าที่เทคนิคมาช่วยสอนในห้องเรียนร่วมด้วย เพราะที่ผ่านมาเกิดความล่าช้าในระหว่างการสอนในห้องเรียน หากไม่มีผู้ช่วยก็จะเป็นภาระหนักกับครูที่ต้องค่อยดูแลเครื่องแท็บเล็ตเวลาขัดข้อง และเกิดความล่าช้าตามมา ครูส่วนใหญ่จึงเสนอว่าควรจะมี โครงการ One Tablet One Projector หรือ Smart Board โดยอาจไม่จำเป็นต้องให้เด็กมีแท็บเล็ตทุกคน แต่ก็สามารถใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อในการเรียนรู้ได้เหมือนกัน ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์มากกว่าแจกเด็กทุกคน โดยที่การเรียนการสอนเป็นต่างคนต่างคลิก

ด้าน ผศ.ดร.ศิรินุช กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ มศว.ใช้เนื้อหาทั้งหมดใน 5 กลุ่มสาระของ สพฐ.ที่จัดทำไว้แล้วทั้งหมด 336 เรื่อง ไม่ได้มีการเพิ่มเติม ทำให้เมื่อไปใช้จริง ครูส่วนใหญ่จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเด็กนักเรียนเริ่มตื่นเต้นในช่วงแรกๆ ที่มีการใช้แท็บเล็ต แต่หลังจากนั้น จะรู้สึกได้ว่าเด็กนักเรียน เปิดไปเจอตัวละครเดิมๆ รูปแบบเดิมๆเด็กนักเรียนเริ่มเบื่อรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาที่ใส่ลงในแท็บเล็ต ตนจึงเสนอว่า สพฐ.ควรที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนออย่างต่อเนื่อง และควรมีรูปแบบการเรียนรู้อื่นๆ มาเสริมเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้มากขึ้น ทั้งนี้ ครูมีทัศนคติที่ดีต่อแท็บเล็ต และเข้าใจตรงกันว่า แท็บเล็ตไม่ได้มาแทนครู ซึ่งครูยังมีบทบาทสำคัญที่สุดในการเรียนการสอนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน
กำลังโหลดความคิดเห็น