“มศว” แถลงผลวิจัยแท็บเล็ต 11 พ.ค.นี้ วอนเปิดใจ และยอมรับผล ขณะที่ “อธิการ มศว” ยอมรับเป็นงานวิจัยระดับบี หรือซี เพราะติดขัดเงื่อนไขเวลาในการศึกษา แต่ผลที่ออกมามีทั้งข้อดี-ข้อเสีย และข้อเสนอแนะต่อการใช้แท็บเล็ต ระบุ หากจะได้ผลระดับเอ ต้องใช้เวลา 1-2 ปี เล็งเสนอ ศธ.ขอศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม
ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยถึงความโครงการนำร่องการประยุกต์และบูรณาการคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาตามแนวนโยบายของรัฐบาล ระยะที่ 1 ว่า ขณะนี้ได้ครบกำหนดเวลาในการทำการศึกษาในระยะแรก โดยทีมนักวิจัยของ มศว ได้ลงพื้นที่ไปศึกษาผลกระทบการใช้แท็บเล็ตในระดับชั้น ป.1 ใน 5 โรงเรียนนำร่อง ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการของการสรุปผลการศึกษา และเตรียมข้อมูลในการแถลงผลการศึกษาต่อกระทรวงศึกษาธิการและสื่อมวลชนในวันที่ 11 พฤษภาคม 2555 เวลา 13.00-14.30 น.ณ โรงละครเล็ก ชั้น 4 อาคารนวัตกรรม มศว ศ.ดร.สาโรช บัวศรี นี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น
การศึกษาผลกระทบของแท็บเล็ต มศว มีเวลาจำกัดมาก ดังนั้น การศึกษาจึงจัดอยู่ที่ระดับบี หรือ ซี เท่านั้น เพราะหากทำการศึกษาในระดับเอ ซึ่งก็คือ ระดับที่ดีที่สุด จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาที่นานพอสมควร แต่เพราะว่าอาจจะไม่ทันแก่การกำหนดนโยบายสาธารณะ ดังนั้น จะเห็นว่า ในประเทศไทยมีผลงานวิจัยในระดับบี และ ซี เยอะมาก ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่าผลการศึกษาจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ ไม่มีใครการันตี ตนจึงจำเป็นต้องชี้แจงข้อจำกัดการทำการศึกษาแท็บเล็ตให้สังคมทราบด้วย โดย มศว ได้กำหนดประเด็นในการศึกษาให้ครบทุกมิติ เช่น 1. เรื่องของสุขภาพกาย เช่น สายตา 2. เรื่องพฤติกรรมของเด็ก เช่น เกี่ยวกับเรื่องเวลานอน เรื่องของความสนใจมีการกระตือรือร้นในการเรียน 3. ศึกษาเรื่องของครูว่าครูมีทัศนคติอย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในความเป็นครูไหม 4. ศึกษาทัศนคติจากผู้ปกครองเป็นอย่างไร และ 5. ไปศึกษาความเห็นจากชุมชนด้วย
“ยอมรับว่าการศึกษาผลกระทบการใช้แท็บเล็ตที่ มศว ทำ ไม่ใช่งานวิจัยเกรดเอ แต่ไม่ใช่ว่า มศว ไม่มีความสามารถ แต่ถ้าทำให้ดีก็ไม่ทันเวลา และไม่ทันที่จะบอกกับสังคมว่าดีอย่างไร ไม่ดีอย่างไร และควรทำอย่างไร การศึกษาครั้งนี้ จึงไม่สามารถใช้วัดผลได้ทั่วประเทศ เนื่องจากมีปัจจัยที่เป็นข้อจำกัด อย่างเช่น การเลือกโรงเรียนที่ทำการศึกษา 5 โรงเรียนนำร่อง มศว ไม่ได้สุ่มเลือก เพราะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับเรื่องการเดินทาง ระบบอินเทอร์เน็ตที่เข้าถึง เราจึงเลือกโรงเรียนที่อยู่ในเมือง เพราะความต้องการอยากรู้ผลเร็ว จึงไม่สามารถเข้าไปศึกษาในทุกกลุ่มไม่ได้ เมื่อ มศว มีข้อจำกัด ก็ต้องแถลงต่อสังคมให้ทราบด้วย เช่น เรื่องของโรงเรียนที่ทำการศึกษาไม่ได้มีการกระจายตัวไปในทุกกลุ่ม และเรายังศึกษาจำนวนเด็กและจำนวนห้องน้อยไป ยังรวมถึงเรื่องของระยะเวลาเพราะกระทรวงศึกษาฯเตรียมจะแจกแท็บเล็ตให้กับเด็ก ป.1 ในเดือนมิถุนายนอยู่แล้ว ถ้าอยากจะให้ มศว.ศึกษาละเอียดก็ต้องประกาศผลเดือนธันวาคม แต่มันจะมีประโยชน์อะไร เพราะมีการแจกไปแล้วโดยไม่รอผลการศึกษา” ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าว
อธิการบดี มศว กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการศึกษาสามารถตอบได้ชัดเจนเฉพาะบางเรื่องเท่านั้น เช่น เรื่องของผลกระทบต่อการนอนของเด็กเป็นอย่างไร สมาธิในการเรียนเป็นอย่างไร แต่ในเรื่องของสายตายังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน เพราะเวลาในการศึกษาน้อยเกินไป ต้องใช้เวลาศึกษาประมาณ 1-2 ปี ก็เพราะข้อจำกัดในเรื่องของเวลา และจำนวนที่ใช้งานแท็บเล็ตต่อวันก็มีผล ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ มศว ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะครูก็สอนหนังสือตามปกติ มศว ก็แนะนำแท็บเล็ตเข้าไป บางโรงเรียนครูมีเนื้อหาของตัวเองที่คิดว่าดีเยี่ยมยอดอยู่แล้ว แต่พอเปิดเนื้อหาของ สพฐ.ในแท็บเล็ต ครูไม่ใช้ ก็ทำให้โรงเรียนนั้นใช้แท็บเล็ตต่อวันน้อยลง บางโรงเรียนมีเนื้อหาใกล้เคียงกับ สพฐ.โรงเรียนนั้นก็จะได้ใช้แท็บเล็ตมากกว่า ทำให้ส่วนนี้ก็เป็นข้อจำกัดเช่นกัน เพราะมีการใช้แท็บเล็ตในแต่ละโรงเรียนไม่สูงเท่ากับที่ มศว ต้องการ
“เวลาที่ มศว จะพูดถึงผลกระทบเรื่องของการใช้แท็บเล็ต ไม่ว่าจะเป็นข้อดีหรือข้อเสีย เราก็ต้องบอกด้วยว่าจากการศึกษาใน 1 เทอม เด็กใช้แท็บเล็ตกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเป็นเด็กที่อยู่โรงเรียนในเมืองเท่านั้น ไม่สามารถวัดผลได้ทั้งประเทศ หากจะให้สามารถวัดผลที่ชัดเจนทั้งประเทศ ก็ต้องศึกษาต่อ แต่อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยการศึกษาบนข้อจำกัดหลายอย่างก็สามารถบอกได้ว่า มีผลดีอย่างไร ผลเสียอย่างไร ดังนั้น รัฐบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบายที่ดี ต้องตัดสินใจได้ถูกทาง แม้ข้อมูลไม่สมบูรณ์ 100% ถ้าใครก็ตามที่ตัดสินใจด้วยข้อมูลที่สมบูรณ์ 100% ไม่ใช่นักบริหาร เพราะเมื่อมีข้อมูลครบแล้วทุกคนก็รู้ว่าให้แจก หรือไม่ให้แจก แต่ที่ข้อมูลไม่ครบ 100% นักบริหารก็ต้องดูว่าทิศทางมันควรจะไปทางไหน ดังนั้น ผมเชื่อว่าการศึกษาผลกระทบจากการใช้แท็บเล็ตแม้จะไม่เต็ม 100% แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้นักบริหารตัดสินใจได้ว่าจะกำหนดนโยบายสาธารณะเรื่องนี้อย่างไร” อธิการบดี มศว กล่าว