xs
xsm
sm
md
lg

ปชช.เกินครึ่งยอมจ่ายเงินหนุน สสส.แม้ไร้ภาษีบาป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดผลสำรวจความเห็นคนไทย กรณีงานด้าน ส่งเสริมสุขภาพของ สสส.พบประชาชน 70% จากจำนวนกว่า 7 พันคน เห็นด้วยกับการทำงาน พร้อมหนุน หากขาดงบจากรัฐ

วันนี้ (21 พ.ค.) ที่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP กล่าวในการแถลงข่าว “ผลประเมินการดำเนินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพของ สสส.” ว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นองค์กรใหญ่ที่ทำประโยชน์ให้สังคม ด้วยการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน อาทิ การลดปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัญหาการสูบบุหรี่ โดยได้รับงบประมาณร้อยละ 2 จากภาษีสุรา และบุหรี่ หรือคิดเป็น 3,000 ล้านบาทต่อปี HITAP จึงมีความคิดว่าควรมีการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบผลทางเศรษฐกิจ จากการดำเนินนโยบายในการลดปริมาณผู้สูบบุหรี่และผู้ดื่มแอลกอฮอล์ โดยได้รับงบประมาณจาก สวรส.4-6 ล้านบาท ทำการศึกษา 2 ปี ตั้งแต่ปี 2552 โดยทำการสำรวจกลุ่มประชาชน 7,311 คน ในกลุ่มอายุ 15 ปี-65 ปี ใน 10 จังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ ทั้งนี้ สำรวจ 2 เรื่อง คือ 1.การประเมินความเต็มใจจ่ายของครัวเรือนต่อมาตรการสร้างเสริมสุขภาพของ สสส.และ 2.การพัฒนาแนวทางการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดของการดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพ ของ สสส.

ภญ.พัทธรา ลีฬหวรงค์ นักวิจัยจาก HITAP เปิดเผยงานวิจัยในส่วนของ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความเต็มใจจ่ายของครัวเรือน โดยมุ่งประเด็นว่า หากในอนาคต สสส.ไม่ได้รับเงินสนับสนุนในการขับเคลื่อนงานอีก ประชาชนจะมีความเห็นอย่างไร และยังต้องการให้ สสส.ดำเนินการต่อไปหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 70 ของกลุ่มตัวอย่างต้องการเห็น สสส.ดำเนินงานต่อ และพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อสนับสนุน ขณะที่ร้อยละ 30 ไม่เต็มใจ โดยกลุ่มที่ไม่เต็มใจ ส่วนมากจะมีการศึกษาสูงสุดในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มสุราร่วมด้วย สะท้อนว่า คนกลุ่มนี้ยังมีปัญหาในเรื่องความตระหนักรู้ในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนั้น กรณีดังกล่าว สสส.อาจต้องมีนโยบายเข้าถึงคนกลุ่มนี้มากขึ้น

ภญ.พัทธรา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในกลุ่มที่เต็มใจจ่ายเงินนั้น มีการศึกษาว่าเต็มใจจ่ายเพื่อให้ สสส.ทำงานด้านใดบ้าง ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประชาชนเข้าถึงง่ายที่สุด โดยพบว่า กลุ่มแผนควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผู้เต็มใจจ่ายมากที่สุดถึง 2,456 คน โดยเต็มใจจ่ายที่ 50 บาทต่อปี รองลงมา กลุ่มแผนควบคุมการบริโภคยาสูบ มีผู้เต็มใจจ่าย 2,439 คน ในอัตรา 50 บาทต่อปี กลุ่มแผนควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพเรื่องอาหารและโภชนาการมีจำนวน 2,435 คน ในอัตรา 50 บาทต่อปี ส่วนแผนการส่งเสริมการออกกำลังกาย และกลุ่มแผนการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน มีผู้เต็มใจจ่ายเท่ากัน คือ 2,432 คน ในอัตรา 100 บาทต่อปี สุดท้ายกลุ่มแผนสื่อสารการตลาดเพื่อสังคมมีจำนวน 2,427 คน ในอัตรา 20 บาทต่อปี ซึ่งทั้งหมดไม่ได้สะท้อนว่าจะต้องจ่ายจริงหรือไม่ แต่การสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ประชาชนเข้าถึงการสื่อสารในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพมากน้อยเพียงใด และเห็นคุณค่าของเรื่องนี้เหล่านี้หรือไม่ ปรากฏว่า ส่วนใหญ่รับทราบและตระหนักในเรื่องส่งเสริมสุขภาพ

ด้าน ภญ.มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์ นักวิจัยในส่วนของการศึกษาการดำเนินงานด้านบุหรี่และสุราของ สสส.นั้น พบว่า ทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขได้นำจำนวนปีที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมาเปรียบเทียบเป็นมูลค่าความสูญเสียต่อราย โดยพบว่า หากประชาชนเริ่มสูบุหรี่ ตั้งแต่อายุ 15 ปี-ตลอดชีวิต จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่ 4.6 ปี ในเพศชาย คิดเป็นความสูญเสียรายได้ที่ 158,000 บาทต่อราย และในหญิงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่ 3.4 ปี และสูญเสียรายได้ที่ 85,000 บาทต่อปี ซึ่งพบว่า หากสามารถทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้เร็วเท่าใด ก็จะลดความสูญเสียทั้งจำนวนปีที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร และมูลค่าความสูญเสียต่อรายได้ ส่วนผลการศึกษาความสูญเสียในประชาชนที่ดื่มสุราอย่างอันตรายตลอดชีวิต พบว่า ในเพศชายจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 2.6 ปี คิดเป็นมูลค่าความสูญเสีย 307,000 บาทต่อราย แต่หากทำให้เลิกดื่มได้ตั้งแต่อายุ 25 ปี จะป้องกันการสูญเสียได้ 275,000 บาทต่อราย ในเพศหญิง จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 1.4 ปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 202,000 บาทต่อราย แต่ถ้าทำให้เลิกดื่มได้ตั้งแต่อายุ 30 ปี จะลดความสูญเสียได้ 178,000 บาทต่อราย

ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ในฐานะผู้อภิปรายงานวิจัย กล่าวว่า เห็นว่า การทำงานที่ผ่านมา สสส.ดำเนินการดี ซึ่งไม่เพียงแต่ลดนักดื่มและนักสูบหน้าใหม่ แต่เน้นเรื่องการเปลี่ยนโครงสร้างพฤติกรรมของสังคมของคนด้วย เช่น วัดปลอดเหล้า ซึ่งเดิมทีมีการดื่มเหล้าในวัด ในงานประเพณีต่างๆ แต่โครงการนี้เข้าไปเปลี่ยนแนวความคิด ซึ่งถือว่าดี ขณะเดียวกัน ยังมีการทำงานเพื่อขับเคลื่อนกฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ดังนั้น แนวทางนี้ถือว่าดีและควรดำเนินการ แต่อยากฝากว่า ไม่ควรรณรงค์ตามสื่อทีวีเพียงอย่างเดียว และขอให้ส่งเสริมสุขภาพไปยังคนกลุ่มฐานะยากจน กลุ่มที่เข้าไม่ถึงต่างๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างการศึกษาใน 2 แผนงานดังกล่าว อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยสะท้อนบางมุมทั้งด้านลบ ด้านบวก ของ สสส.เฉพาะส่วน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะสะท้อนการทำงานทั้งองค์กรได้ ทราบมาว่า ในเวลาเร็วๆ นี้ จะมีการประเมินผลการดำเนินงานของ สสส.รอบ 10 ปี ที่ประเมินในวงกว้างทุกๆ แผนงาน เชื่อว่า ณ ขณะนั้น สังคมจะได้เห็นภาพชัดขึ้น แต่จะมีข้อดี ข้อด้อยอย่างไร คงต้องติดตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น